ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ธรรมาธิปไตย - ธัมมทินนา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ธรรมาธิปไตย - ธัมมทินนา

ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่, คือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามและเหตุผลเป็นใหญ่ ทำการด้วยปัญญา โดยเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา มุ่งเพื่อความดีงาม ความจริง ความชอบธรรมเป็นประมาณ ดู อธิปไตย

ธรรมาธิษฐาน มีธรรมเป็นที่ตั้ง คือเทศนายกธรรมขึ้นแสดง เช่นว่าศรัทธาศีล คืออย่างนี้ ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น คู่กันกับบุคคลาธิษฐาน

ธรรมานุธรรมปฏิบัติ การประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงการปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลัก เช่น หลักย่อยสอดคล้องกับหลักใหญ่ และเข้าแนวกับธรรมที่เป็นจุดมุ่งหมาย, ปฏิบัติถูกต้องตามกระบวนธรรม; ดู วุฑฒิ

ธรรมาภิสมัย การตรัสรู้ธรรม, การสำเร็จมรรคผล

ธรรมารมณ์ อารมณ์ทางใจ, สิ่งที่ใจนึกคิด

ธรรมาสน์ ที่สำหรับนั่งแสดงธรรม

ธรรมิกอุบาย อุบายที่ประกอบด้วยธรรม, อุบายที่ชอบธรรม, วิธีที่ถูกธรรม

ธรรมิศราธิบดี ผู้เป็นอธิบดีโดยฐานเป็นใหญ่ในธรรม หมายถึงพระพุทธเจ้า (คำกวี)

ธรรมีกถา ถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรม, การพูดหรือสนทนาเกี่ยวกับธรรม, คำบรรยายหรืออธิบายธรรม

ธรรมุเทศ ธรรมที่แสดงขึ้นเป็นหัวข้อ, หัวข้อธรรม

ธัญชาติ ข้าวชนิดต่างๆ พืชจำพวกข้าว

ธัมมกามตา ความเป็นผู้ใคร่ธรรม, ความพอใจและสนใจในธรรม, ความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาธรรม และใฝ่ในความดี ดู นาถกรณธรรม

ธัมมคารวตา ดู คารวะ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรมเป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากวันตรัสรู้สองเดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือ ความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ)และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก

ธัมมทินนา พระเถรีมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นกุลธิดาชาวพระนครราชคฤห์เป็นภรรยาของวิสาขเศรษฐี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบวชในสำนักนางภิกษุณี บำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางเป็นธรรมกถึก (เขียนธรรมทินนา ก็มี)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย