ธัมมเทสนามัย - ธัมมัสสวนานิสงส์
ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ข้อ ๙ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)
ธัมมปฏิสันถาร ดู ธรรมปฏิสันถาร
ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, เห็นคำอธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นหัวข้อได้เห็นผลก็สืบสาวไปหาเหตุได้ (ข้อ ๒ ในปฏิสัมภิทา ๔)
ธัมมปทัฏฐกถา คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในธรรมบทแห่งขุททกนิกายในพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนา หรือเป็นหัวหน้าในการรจนาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑,๐๐๐ (ชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา)
ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม ได้แก่หวงแหนความรู้ ไม่ยอมบอก ไม่ยอมสอนคนอื่น เพราะเกรงว่าเขาจะรู้เท่าตน (ข้อ ๕ ในมัจฉริยะ ๕)
ธรรมวิจยะ ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม (ข้อ ๒ ในโพชฌงค์ ๗)
ธมฺมสมฺมุขตา ความเป็นต่อหน้าธรรม, พร้อมหน้าธรรม ในวิวาทาธิกรณ์ หมายความว่า ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัยและสัตถุศาสน์อันเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์นั้น จึงเท่ากับว่าธรรมมาอยู่ที่นั้นด้วย
ธัมมสากัจฉา ดู ธรรมสากัจา
ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์; ตามอธิบายในบาลีหมายถึง รู้หลัก หรือรู้หลักการ เช่น ภิกษุเป็นธัมมัญญู คือ รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จัดเป็นนวังคสัตถุศาสน์ ดู สัปปุริสธรรม
ธัมมัปปมาณิกา ถือธรรมเป็นประมาณผู้เลื่อมใสเพราะพอใจในเนื้อหาธรรมและการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น ชอบฟังธรรม ชอบเห็นภิกษุรักษามารยาทเรียบร้อยสำรวมอินทรีย์
ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม, การสดับคำแนะนำสั่งสอน ดู ธรรมสวนะ
ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม (ข้อ ๘ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)
ธัมมัสสวนานิสงส์ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม, ผลดีของการฟังธรรม, ประโยชน์ที่จะได้จากการฟังธรรม มี ๕ อย่าง คือ ๑. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๒. สิ่งที่เคยฟัง ก็เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้ ๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ ๕. จิตของเขาย่อมผ่องใส