ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ยกน - ยส, ยสะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ยกน - ยส, ยสะ

ยกน (ยะกะนะ) ตับ

ยชุพเพท ชื่อคัมภีร์ที่ ๒ แห่งพระเวทในศาสนาพราหมณ์ เป็นตำรับประกอบด้วยมนตร์สำหรับใช้สวดในยัญพิธีและแถลงพิธีทำกิจบูชายัญ เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ยชุรเวท ดู ไตรเพท, เวท

ยติ ผู้สำรวมอินทรีย์, นักพรต, พระภิกษุ

ยถาภูตญาณ ความรู้ตามความเป็นจริง, รู้ตามที่มันเป็น

ยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง

ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ ไม่เลือกเสนาสนะเอาตามพอใจตัวเอง (ข้อ ๑๒ ในธุดงค์ ๑๓)

ยม เทพผู้เป็นใหญ่ประจำโลกของคนตาย

ยมกะ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งที่มีความเห็นว่าพระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ซึ่งเป็นความเห็นที่ผิด ภายหลังได้พบกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรได้เปลื้องท่านจากความเห็นผิดนั้นได้

ยศ ความเป็นใหญ่และความยกย่องนับถือ

ยศกากัณฑกบุตร พระเถระองค์สำคัญผู้ชักชวนให้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี เดิมชื่อยศ เป็นบุตรกากัณฑกพราหมณ์ ดู สังคายนา ครั้งที่ ๒

ยส, ยสะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ วันหนึ่งเห็นสภาพในห้องนอนของตน เป็นเหมือนป่าช้าเกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย จึงออกจากบ้านไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจโปรดยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีบิดาของตน ก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วขออุปสมบทเป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย