ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ยสกุลบุตร - ยาคู

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ยสกุลบุตร - ยาคู

ยสกุลบุตร พระยสะเมื่อก่อนอุปสมบทเรียกว่ายสกุลบุตร

ยโสชะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรหัวหน้าชาวประมง ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนากปิลสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมาไปเจริญสมณธรรมที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาได้สำเร็จพระอรหัต

ยโสธรา
1. เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอัญชนะ ผู้ครองกรุงเทวทหะ เป็นพระมารดาของพระนางสิริมหามายา และพระนางประชาบดีโคตมี
2. อีกชื่อหนึ่งว่าพิมพา เป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะ เป็นมารดาของพระราหุล ต่อมาออกบวช เรียกชื่อว่า พระภัททา กัจจานา

ยอพระเกียรติ ชื่อประเภทหนังสือที่แต่งเชิดชูพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่น

ยักยอก เอาทรัพย์ของผู้อื่นที่อยู่ในความรักษาของตนไปโดยทุจริต

ยักษ์ มีความหมายหลายอย่าง แต่ที่ใช้บ่อย หมายถึงอมนุษย์พวกหนึ่งเป็นบริวารของท้าวกุเวร หรือเวสสวัณ, ตามที่ถือกันมาว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัวมีเขี้ยวงอกโง้ง ชอบกินมนุษย์กินสัตว์โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้

ยักษิณี นางยักษ์

ยัญ การเซ่น, การบูชา, การบวงสรวง ชนิดหนึ่งของพราหมณ์ เช่น ฆ่าสัตว์บูชาเทพเจ้าเพื่อให้ตนพ้นเคราะห์ร้าย เป็นต้น

ยัญพิธี พิธีบูชายัญ

ยาคุภาชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติคือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่แจกยาคู

ยาคู ข้าวต้ม, เป็นอาหารเบาสำหรับฉันรองท้องก่อนถึงเวลาฉันอาหารหนักเป็นของเหลว ดื่มได้ ซดได้ ไม่ใช่ของฉันให้อิ่ม เช่น ภิกษุดื่มยาคูก่อนแล้วไปบิณฑบาต ยาคูสามัญอย่างนี้ ที่จริงจะแปลว่าข้าวต้มหาถูกแท้ไม่ แต่แปลกันมาอย่างนั้นพอให้เข้าใจง่ายๆ ข้าวต้มที่ฉันเป็นอาหารมื้อหนึ่งได้อย่างที่ฉันกันอยู่โดยมากมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งว่า โภชชยาคู




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย