ยาจก - เยภุยยสิกา
ยาจก ผู้ขอ, คนขอทาน, คนขอทานโดยไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน
ยาตรา เดิน, เดินเป็นกระบวน
ยาน เครื่องนำไป, พาหนะต่างๆ เช่น รถ, เรือ, เกวียน เป็นต้น
ยาม คราว, เวลา, ส่วนแห่งวันคืน
ยามะ, ยามา สวรรค์ชั้นที่ ๓ มีท้าว สุยามเทพบุตรปกครอง
ยามกาลิก ของที่ให้ฉันได้ ชั่วระยะวันหนึ่ง กับคืนหนึ่ง ดู กาลิก
ยาวกาลิก ของที่อนุญาตให้ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ดู กาลิก
ยาวชีวิก ของที่ให้ฉันได้ไม่จำกัดเวลา ตลอดชีวิต ดู กาลิก
ยาวตติยกะ แปลว่า “ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสน์จบครั้งที่ ๓” หมายความว่าเมื่อภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทเข้าแล้วยังไม่ต้องอาบัติ ต่อเมื่อสงฆ์สวดประกาศสมนุภาสน์หนที่ ๓ จบแล้ว จึงจะต้องอาบัตินั้น ได้แก่ สังฆาทิเสส ข้อที่ ๑๐-๑๑-๑๒-๑๓ และสิกขาบทที่ ๘ แห่งสัปปาณกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์
ยินร้าย ไม่พอใจ, ไม่ชอบใจ
ยี่ สอง โบราณเขียน ญี่ เดือนยี่ ก็คือเดือนที่สองต่อจากเดือนอ้ายอันเป็นเดือนที่หนึ่ง
ยุกติ ชอบ, ถูกต้อง, สมควร
ยุค คราว, สมัย
ยุคล คู่, ทั้งสอง
ยุคลบาท, บาทยุคล เท้าทั้งสอง, เท้าทั้งคู่
ยุติธรรม ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล
ยุทธนา การรบพุ่ง, การต่อสู้กัน
ยุบล ข้อความ, เรื่องราว
ยุพราช พระราชกุมารที่ได้รับอภิเษกหรือแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่จะสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบไป
เยภุยยสิก กิริยาเป็นไปตามข้างมากได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์ โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็คือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวตคะแนนเสียง, ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์ ดู อธิกรณสมถะ