ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด เยวาปนกธรรม - โยนิ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


เยวาปนกธรรม - โยนิ

เยวาปนกธรรม “ก็หรือว่าธรรมแม้อื่นใด” หมายถึงธรรมจำพวกที่กำหนดแน่ไม่ได้ว่าข้อไหนจะเกิดขึ้น ได้แก่ เจตสิก ๑๖ เป็นพวกที่เกิดในกุศลจิต ๙ คือ ๑. ฉันทะ ๒. อธิโมกข์ ๓. มนสิการ ๔. อุเบกขา (ตัตรมัชฌัตตตา) ๕. กรุณา ๖ มุทิตา ๗. สัมมาวาจา (วจีทุจริตวิรัติ) ๘. สัมมากัมมันตะ (กายทุจริตวิรัติ) ๙. สัมมาอาชีวะ (มิจฉาชีววิรัติ) เป็นพวกที่เกิดในอกุศลจิต ๑๐ คือ ๑. ฉันทะ ๒. อธิโมกข์ ๓. มนสิการ ๔. มานะ ๕. อิสสา ๖. มัจฉริยะ ๗. ถีนะ ๘. มิทธะ ๙. อุทธัจจะ ๑๐. กุกกุจจะ นับเฉพาะที่ไม่ซ้ำ (คือเว้น ๓ ข้อแรก) เป็น ๑๖

เยี่ยง อย่าง, แบบ เช่น

โยคะ 1. กิเลสเครื่องประกอบ คือประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา 2. ความเพียร

โยคเกษม, โยคเกษมธรรม “ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ” ความหมายสามัญว่าความปลอดโปร่งโล่งใจหรือสุขกายสบายใจ เพราะปราศจากภัยอันตรายหรือล่วงพ้นสิ่งที่น่าพรั่นกลัวมาถึงสถานที่ปลอดภัย;
ในความหมายขั้นสูงสุด มุ่งเอาพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่เกษมคือโปร่งโล่งปลอดภัยจากโยคกิเลสทั้ง ๔ จำพวก ดู โยคะ, เกษมจากโยคธรรม

โยคธรรม ธรรมคือกิเลสเครื่องประกอบ ในข้อความว่า “เกษมจากโยคธรรม” คือความพ้นภัยจากกิเลส ดู โยคะ

โยคักเขมะ ดู โยคเกษม

โยคาวจร ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร, ผู้ประกอบความเพียร, ผู้เจริญภาวนา คือกำลังปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เขียน โยคาพจรก็มี

โยคี ฤษี, ผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ; ผู้ประกอบความเพียร ดู โยคาวจร

โยชน์ ชื่อมาตราวัดระยะทาง เท่ากับ ๔ คาวุต หรือ ๔๐๐ เส้น

โยธา ทหาร, นักรบ

โยนิ กำเนิดของสัตว์ มี ๔ จำพวก คือ ๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น คน แมว ๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ เช่น นก ไก่ ๓. สังเสทชะ เกิดในไคล คือที่ชื้นแฉะสกปรก เช่น หนอนบางอย่าง ๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา สัตว์นรก




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย