ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด พุทธานุญาต - เพื่อน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


พุทธานุญาต - เพื่อน

พุทธานุญาต ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต

พุทธานุพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้าและพระสาวก

พุทธานุสติ ตามระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า (ข้อ ๑ ในอนุสติ ๑๐)

พุทธิจริต พื้นนิสัยที่หนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (ข้อ ๕ ในจริต ๖)

พุทธุปบาทกาล กาลเป็นที่อุบัติของพระพุทธเจ้า, เวลาที่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก

พุทฺโธ ทรงเป็นผู้ตื่น ไม่หลงงมงายเองด้วย และทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นพ้นจากความหลงงมงายนั้นด้วย ทรงเป็นผู้เบิกบาน มีพระทัยผ่องแผ้ว บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์

เพ็ญ เต็ม หมายถึง พระจันทร์เต็มดวงคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ

เพทางค์ วิชาประกอบกับการศึกษาพระเวท มี ๖ อย่าง คือ ๑. ศึกษาวิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง ๒. ไวยากรณ์ ๓. ฉันท์ ๔. โชยติส ดาราศาสตร์ ๕. นิรุกติ กำเนิดของคำ ๖. กัลป วิธีจัดทำพิธี

เพลิงทิพย์ ไฟเทวดา, ไฟที่เป็นของเทวดา, เพลิงคราวถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

เพศ ลักษณะที่ให้รู้ว่าหญิงหรือชาย, เครื่องหมายว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง, ลักษณะและอาการที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นบุคคลประเภทนี้ ประเภทนี้ เช่น โดยเพศแห่งฤาษี เพศบรรพชิต เพศแห่งช่างไม้ เป็นต้น, ขนบธรรมเนียม

เพียรชอบ เพียรในที่ ๔ สถาน ดู ปธาน

เพื่อน ผู้ร่วมธุระร่วมกิจร่วมการหรือร่วมอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน, ผู้ชอบพอรักใคร่คบหากัน, ในทางธรรม เนื้อแท้ของความเป็นเพื่อน อยู่ที่ความมีใจหวังดีปรารถนาดีต่อกัน กล่าวคือ เมตตาหรือไมตรี เพื่อนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ท่านเรียกว่า มิตร การคบเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียม และเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้ ดู มิตตปฏิรูป, มิตรแท้ บุคคลที่ช่วยชี้แนะแนวทาง ชักจูงตลอดจนแนะนำสั่งสอน ชักนำผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดีและความสุข ให้เจริญก้าวหน้า ให้พัฒนาในธรรม แม้จะเป็นบุคคลเสมอกัน หรือเป็นมารดาบิดาครูอาจารย์ ตลอดทั้งพระสงฆ์ จนถึงพระพุทธเจ้า ก็นับว่าเป็นเพื่อน แต่เป็นเพื่อนใจดี หรือเพื่อนมีธรรม เรียกว่า กัลยาณมิตร แปลว่ามิตรดีงาม

กัลยาณมิตรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม หรือธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการคือ
๑. ปิโย น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนให้อยากเข้าไปหา
๒. ครุ น่าเคารพ ด้วยความประพฤติหนักแน่นเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ
๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
๔. วัตตา รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำเป็นที่ปรึกษาที่ดี
๕. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากย์วิจารณ์
๖. คัมภีรัญจะ กถังกัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย