ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด นทีกัสสป - นวังคสัตถุศาสน์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


นทีกัสสป - นวังคสัตถุศาสน์

นทีกัสสป นักบวชชฎิลแห่งกัสสปโคตร น้องชายของอุรุเวลากัสสปะ พี่ชายของคยากัสสปะ ออกบวชตามพี่ชายพร้อมด้วยชฎิลบริวาร ๓๐๐ คน สำเร็จอรหัตด้วยฟังอาทิตตปริยายสูตรเป็นมหา สาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก

นทีปารสีมา สีมาฝั่งน้ำ คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำทั้งสอง เปิดแม่น้ำไว้กลาง

นพเคราะห์ ดู ดาวพระเคราะห์

นมัสการ การไหว้, การเคารพ, นอบน้อม

นรก เหวแห่งความทุกข์, ที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย, ที่ไปเกิดและเสวยความทุกข์ของสัตว์ผู้ทำบาป เป็นอบายอย่างหนึ่งใน ๔ อย่าง คือ นรก ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย ดู นิรยะ

นวกะ 1. หมวด ๙ 2. ภิกษุใหม่, ภิกษุมีพรรษายังไม่ครบ ๕

นวกภูมิ ขั้น ชั้นหรือระดับพระนวกะ, ระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ ที่นับว่ายังเป็นผู้ใหญ่ คือ มีพรรษาต่ำกว่า ๕ ยังต้องถือนิสัย เป็นต้น เทียบ เถรภูมิ, มัชฌิมภูมิ

นวกรรม การก่อสร้าง

นวกัมมาธิฏฐายี ผู้อำนวยการก่อสร้าง เช่น ที่พระมหาโมคคัลลานะได้รับมอบหมายจากพระบรมศาสดาให้เป็นผู้อำนวยการสร้างบุพพารามที่นางวิสาขาบริจาคทุนสร้างที่กรุงสาวัตถี

นวกัมมิกะ ผู้ดูแลนวกรรม, ภิกษุผู้ได้รับสมมติคือแต่งตั้งจากสงฆ์ ให้ทำหน้าที่ดูแลการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ใน
อาราม

นวโกวาท คำสอนสำหรับผู้บวชใหม่,คำสอนสำหรับภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่, ชื่อหนังสือแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

นวรหคุณ คุณของพระอรหันต์ ๙ หมายถึง คุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ ๙ ประการ ได้แก่พุทธคุณ ๙ นั่นเอง เขียน นวารหคุณ ก็ได้ แต่เพี้ยนไปเป็น นวหรคุณ ก็มี

นวังคสัตถุศาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ ๙, พุทธพจน์มีองค์ประกอบ ๙ อย่าง, สวนประกอบ ๙ อย่างที่เป็น คำสอนของพระพุทธเจ้าคือ ๑. สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส) ๒. เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด) ๓. เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น) ๔. คาถา (ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น) ๕. อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน ๘๒ สูตร) ๖. อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ ๑๑๐ สูตร) ๗. ชาตกะ (ชาดก ๕๕๐ เรื่อง) ๘. อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือ พระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ) ๙. เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้วซักถามยิ่ง ๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น); เขียนอย่างบาลีเป็น นวังคสัตถุสาสน์ ดู ไตรปิฎก




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย