วิปฏิสาร - วิปัสสนาญาณ
วิปฏิสาร ความเดือดร้อน, ความร้อนใจ เช่น ผู้ประพฤติผิดศีล เกิดความเดือดร้อนขึ้นในใจ ในเพราะความไม่บริสุทธิ์ของตนเรียกว่า “เกิดวิปฏิสาร”
วิปปวาส อยู่ปราศ เป็นประการหนึ่ง ในรัตติเฉท การขาดราตรีแห่งการประพฤติมานัตและการอยู่ปริวาส; สำหรับผู้ประพฤติมานัต วิปปวาส หมายถึงอยู่ในถิ่น (จะเป็นวัดหรือที่มิใช่วัดเช่นป่าเป็นต้นก็ตาม) ที่ไม่มีสงฆ์อยู่เป็นเพื่อน คือ อยู่ปราศจากสงฆ์, สำหรับผู้อยู่ปริวาส หมายถึง อยู่ในถิ่นปราศจากปกตัตตภิกษุ (มีปกตัตตภิกษุอยู่เป็นเพื่อรูปเดียวก็ใช้ได้) ดู รัตติเฉท
วิปริณาม ความแปรปรวน, ความผันแปรเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป
วิปลาส, พิปลาส กิริยาที่ถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง มีดังนี้;
ก. วิปลาสด้วยอำนาจจิตต์และเจตสิก ๓ ประการ คือ
๑. วิปลาสด้วยอำนาจสำคัญผิด เรียกว่า “สัญญาวิปลาส”
๒. วิปลาสด้วยอำนาจคิดผิด เรียกว่า “จิตตวิปลาส”
๓. วิปลาสด้วยอำนาจเห็นผิด เรียกว่า “ทิฏฐิวิปลาส”
ข. วิปลาสด้วยสามารถวัตถุเป็นที่ตั้ง ๔ ประ การ คือ
๑. วิปลาสในของที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
๒. วิปลาสในของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
๓. วิปลาสในของที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน
๔. วิปลาสในของที่ไม่งามว่างาม
วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม; ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง(ข้อ ๒ ในกัมมัฏฐาน ๒ หรือภาวนา ๒) ดู ภาวนา, ไตรลักษณ์
วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานคือวิปัสสนา ดู วิปัสสนา
วิปัสสนาญาณ ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง คือ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
๖. มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดย ความเป็นกลางต่อสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์