วิมุติ - วิวาทมูล
วิมุติ ดู วิมุตติ
วิโมกข์ ความหลุดพ้นจากกิเลส มี ๓ ประเภทคือ ๑. สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตาแล้วถอนความยึดมั่นได้ มองเห็นความว่าง ๒. อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจัง แล้วถอนนิมิตได้ ๓. อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาได้
วิรัติ ความเว้น, งดเว้น; เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว; วิรัติ ๓ คือ ๑. สัมปัตตวิรัติ เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า ๒. สมาทานวิรัติ เว้นด้วยการสมาทาน ๓. สมุจเฉทวิรัติ เว้นได้โดยเด็ดขาด
วิราคะ ความสิ้นกำหนด, ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ, ความคลายออกได้หายติด เป็นไวพจน์ของนิพพาน
วิราคสัญญา กำหนดหมายธรรมเป็นที่สิ้นราคะ หรือภาวะปราศจากราคะว่าเป็นธรรมละเอียด (ข้อ ๖ ในสัญญา ๑๐)
วิริยะ ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจไม่ท้อถอย (ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔)
วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร คือลงมือทำความเพียรอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว, ระดมความเพียร (ข้อ ๔ ในเวสารัชชกรณธรรม ๕, ข้อ ๗ ในลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘, ข้อ ๕ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๗ ในนาถกรณธรรม ๑๐)
วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร (ข้อ ๕ ในกถาวัตถุ ๑๐)
วิวัฏฏ์, วิวัฏฏะ ปราศจากวัฏฏะ, ภาวะพ้นวัฏฏะ ได้แก่ นิพพาน
วิวัฏฏคามีกุศล บุญกุศลที่ให้ถึงวิวัฏฏ์ คือพระนิพพาน
วิวาท การทะเลาะ, การโต้แย้งกัน, การ กล่าวเกี่ยงแย่งกัน, กล่าวต่าง คือว่าไปคนละทาง ไม่ลงกันได้
วิวาทมูล รากเหง้าแห่งการเถียงกัน, เหตุที่ก่อให้เกิดวิวาท กลายเป็นวิวาทาธิกรณ์ขึ้น มี ๒ อย่าง คือ
๑. ก่อวิวาทขึ้นด้วยความปรารถนาดี เห็นแก่ธรรมวินัย มีจิตประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ
๒. ก่อวิวาทด้วยความปรารถนาเลว ทำด้วยทิฏฐิมานะ มีจิตประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ