พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วิวาทมูลทุกข์ - วิสสาสะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วิวาทมูลทุกข์ - วิสสาสะ

วิวาทมูลทุกข์ ทุกข์มีวิวาทเป็นมูล, ทุกข์เกิดเพราะการทะเลาะกันเป็นเหตุ

วิวาทาธิกรณ์ วิวาทที่จัดเป็นอธิกรณ์, การวิวาทซึ่งเป็นเรื่องที่สงฆ์จะต้องเอาธุระดำเนินการพิจารณาระงับ ได้แก่การเถียงกันปรารภพระธรรมวินัย เช่นเถียงกันว่า สิ่งนี้เป็นธรรม เป็นวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ข้อนี้ไม่ได้ตรัสไว้ ดังนี้เป็นต้น

วิวาหะ การแต่งงาน, การสมรส

วิเวก ความสงัด มี ๓ คือ อยู่ในที่สงัด เป็น กายวิเวก จิตสงบเป็น จิตวิเวก หมดกิเลสเป็น อุปธิวิเวก

วิศวามิตร ครูผู้สอนศิลปวิทยาแก่พระราชกุมารสิทธัตถะ

วิศาขนักษัตร หมู่ดาวฤกษ์ชื่อวิศาขะ (ดาวคันฉัตร) เป็นหมู่ดาวฤกษ์ที่ ๑๖ มี ๕ ดวง ดู ดาวนักษัตร

วิศาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์; วิสาขบูชา ก็เขียน

วิศาขปุรณมี วันเพ็ญเดือน ๖, วันกลางเดือน ๖, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖, ดิถีมีพระจันทร์เต็มดวง ประกอบด้วยวิศาขฤกษ์ (วิศาขนักษัตร)

วิศาล กว้างขวาง, แผ่ไป

วิสภาค มีส่วนไม่เสมอกัน คือขัดกัน เข้ากันไม่ได้ ไม่ถูกกัน หรือไม่กลมกลืนกัน, ไม่เหมาะกัน

วิสมปริหารชา อาพาธา ความเจ็บไข้ที่เกิดจากบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ คือ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่พอดี

วิสสาสะ
1. ความคุ้นเคย, ความสนิทสนม การถือว่าเป็นกันเอง, ในทางพระวินัย การถือเอาของของผู้อื่นที่จัดว่าเป็นการถือวิสสาสะ มีองค์ ๓ คือ ๑. เคยเห็นกันมา เคยคบกันมาหรือได้พูดกันไว้ ๒. เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ ๓. รู้ว่าของนั้นเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ, บัดนี้นิยมเขียน วิสาสะ
2. ความนอนใจ ดังพุทธดำรัสว่า “ภิกษุเธอยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะแล้วอย่าได้ถึง วิสสาสะ (ความนอนใจ)”




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย