ทธิ - ทวิช
ทธิ นมส้ม,นมเปรี้ยว
ทนต์ ฟัน
ทมะ การฝึก, การฝึกฝนปรับปรุงตน,การรู้จักข่มจิตข่มใจ บังคับควบคุมตนเองได้ ไม่พูดไม่ทำเพียงตามที่อยาก แต่พูดและทำตามเหตุผลที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ดีงามสมควรเป็นประโยชน์ รู้จักปรับตัวปรับใจและแก้ไขปรับปรุงตนด้วยปัญญาไตร่ตรองให้งอกงามดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ (ข้อ ๒ ในฆราวาสธรรม ๔)
ทมิฬ ชื่อชนเผ่าหนึ่งในเกาะลังกาเคยชิงราชสมบัติพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยได้
ทรกรรม การทำให้ลำบาก
ทรง ในประโยคว่า “ภิกษุทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง” ครอง, นุ่งห่ม, มีไว้เป็นสิทธิ์,เก็บไว้, ครอบครอง
ทรง ในประโยคว่า “พึงทรงอติเรกบาตรไว้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง” ใช้, มี, เก็บไว้, รักษาไว้, ครอบครอง
ทรมาน ข่ม, ปราบ,ฝึก, ทำให้เสื่อมพยศ, ทำให้เสื่อมการถือตัว, ทำให้กลับใจ บัดนี้มักหมายถึงทำให้ลำบาก
ทรยศ คิดร้ายต่อมิตรหรือผู้มีบุญคุณ
ทวดึงสกรรมกรณ์ วิธีลงโทษ ๓๒ อย่าง ซึ่งใช้ในสมัยโบราณ เช่น โบยด้วยแส้ โบยด้วยหวาย ตีด้วยกระบอง ตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูก ตัดศีรษะ เอาขวานผ่าอก เป็นต้น
ทวดึงสาการ ดู ทวัตติงสาการ
ทวัตติงสกรรมกรณ์ ดู ทวดึงสกรรมกรณ์
ทวัตติงสาการ อาการ ๓๒, ส่วนประกอบที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน ๓๒ อย่างในร่างกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดู เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ) มันสมอง ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ปัสสาวะ); ในขุททกปาฐะ (ฉบับสยามรัฐ) เรียงลำดับมันสมองไว้เป็นข้อสุดท้าย; ทวัตดึงสาการ หรือ ทวดึงสาการ ก็เขียน
ทวาร ประตู, ทาง,ช่องตามร่างกาย 1. ทางรับรู้อารมณ์ มี ๖ คือ ๑. จักขุทวาร ทางตา ๒. โสตทวาร ทางหู ๓. ฆานทวาร ทางจมูก ๔. ชิวหาทวาร ทางลิ้น ๕. กายทวาร ทางกาย ๖.มโนทวาร ทางใจ 2. ทางทำกรรม มี ๓ คือ ๑. กายทวาร ทางกาย ๒. วจีทวาร ทางวาจา ๓. มโนทวาร ทางใจ
ทวารบาล คนเฝ้าประตู
ทวารเบา ช่องปัสสวะ
ทวารหนัก ช่องอุจจาระ
ทวิช ชื่อหนึ่งสำหรับเรียกพราหมณ์ในภาษาไทยเป็นทิชาจารย์หรือทวิชาจารย์ก็มี แปลว่าเกิดสองหน หมายถึงเกิดโดยกำเนิดครั้งหนึ่ง เกิดโดยได้รับครอบเป็นพราหมณ์ครั้งหนึ่ง เปรียบเหมือนนกซึ่งเกิดสองหนเหมือนกัน คือเกิดจากท้องแม่ออกเป็นไข่หนหนึ่งเกิดจากไข่เป็นตัวอีกหนหนึ่ง นกจึงมีชื่อเรียกว่า ทวิช หรือทิช ซึ่งแปลว่าเกิดสองหนอีกชื่อหนึ่งด้วย