ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สมาทาน - สมานสังวาส

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สมาทาน - สมานสังวาส

สมาทาน การถือเอารับเอาเป็นข้อปฏิบัติ, การถือปฏิบัติ เช่น สมาทาน ศีล คือรับเอาศีลมาปฏิบัติ

สมาทานวัตร ดู ขึ้นวัตร

สมาทานวิรัติ การเว้นด้วยการสมาทาน คือ ได้สมาทานศีลไว้ก่อนแล้ว เมื่อประสบเหตุที่จะให้ทำความชั่ว ก็งดเว้นได้ตามที่สมาทานนั้น (ข้อ ๒ ในวิรัติ ๓)

สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ มักใช้เป็นคำเรียกง่ายๆ สำหรับ อธิจิตตสิกขา;
ดู เอกัคคตา, อธิจิตตสิกขา

สมาธิ ๒ คือ ๑. อุปจารสมาธิ สมาธิจวนเจียน หรือสมาธิเฉียดๆ ๒. อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่

สมาธิ ๓ คือ ๑. สุญญตสมาธิ ๒. อนิมิตตสมาธิ ๓. อัปปณิหิตสมาธิ;

อีกหมวดหนึ่งได้แก่ ๑. ขณิกสมาธิ ๒. อุปจาสมาธิ ๓. อัปปนาสมาธิ

สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักชวนให้ทำใจให้สงบตั้งมั่น (ข้อ ๗ ในกถาวัตถุ ๑๐)

สมาธิขันธ์ หมวดธรรมจำพวกสมาธิ เช่น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ชาคริยานุโยค กายคตาสติ เป็นต้น

สมานกาล เวลาปัจจุบัน

สมานฉันท์ มีความพอใจร่วมกัน,พร้อมใจกัน

สมานลาภสีมา แดนมีลาภเสมอกัน ได้แก่เขตที่สงฆ์ตั้งแต่ ๒ อาวาสขึ้นไปทำกติกากันไว้ว่า ลาภเกิดขึ้นในอาวาสหนึ่ง สงฆ์อีกอาวาสหนึ่งมีส่วนได้รับแจกด้วย; ดู กติกา ด้วย

สมานสังวาส มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเสมอกัน, ผู้ร่วมสังวาส หมายถึงภิกษุสงฆ์ผู้สามัคคีร่วมอุโบสถสังฆกรรมกัน; เหตุให้ภิกษุผู้แตกกันออกไปแล้วกลับเป็นสมานสังวาสกันได้อีกมี ๒ อย่าง คือ
๑. ทำตนให้เป็นสมานสังวาสเอง คือ สงฆ์ปรองดองกันเข้าได้ หรือภิกษุนั้นแตกจากหมู่แล้วกลับเข้าหมู่เดิม
๒. สงฆ์ระงับอุกเขปนียกรรมที่ลงโทษภิกษุนั้น แล้วรับเข้าสังวาสตามเดิม




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย