สมานสังวาสสีมา - สมุฏฐาน
สมานสังวาสสีมา แดนมีสังวาสเสมอกัน, เขตที่กำหนดความพร้อมเพรียงและสิทธิในการเข้าอุโบสถปวารณา และสังฆกรรมด้วยกัน
สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอ หมายถึง การทำตัวให้เข้ากันได้ ด้วยการร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่ถือตัว มีความเสมอภาค และวางตัวเหมาะสม (ข้อ ๔ ในสังคหวัตถุ ๔)
สมานาจริยกะ ภิกษุผู้ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน
สมานาสนิกะ ผู้ร่วมอาสนะกัน หมายถึงภิกษุผู้มีพรรษารุ่นราวคราวเดียวกันแก่หรืออ่อนกว่ากันไม่ถึง ๓ พรรษา นั่งร่วมอาสนะเสมอกันได้ เทียบ อสมานาสนิกะ
สมานุปัชฌายกะ ภิกษุผู้ร่วมพระอุปัชฌายะเดียวกัน
สมาโนทก ผู้ร่วมน้ำ, ตามธรรมเนียมพราหมณ์ หมายถึง บุรพบิดรพ้นจากทวดขึ้นไปก็ดี ญาติผู้มิได้สืบสายตรงก็ดี ซึ่งเป็นผู้จะพึงได้รับน้ำกรวด (คู่กับ สปิณฑะ)
สมาบัติ ภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึง;
สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติผลสมาบัติ อนุปุพพวิหารสมาบัติ เป็นต้น สมาบัติที่กล่าวถึงบ่อยคือ ฌานสมาบัติกล่าวคือ สมาบัติ ๘ อันได้แก่ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ถ้าเพิ่มนิโรธสมาบัติต่อท้ายสมาบัติ ๘ นี้ รวมเรียกว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙
สมุจจยขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๓ ในจุลวรรคแห่งพระวินัยปิฎก ว่าด้วยวุฏฐานวิธีบางเรื่อง
สมุจเฉท การตัดขาด
สมุจเฉทปหาน การละกิเลสได้โดยเด็ดขาดด้วยอริยมรรค
สมุจเฉทวิมุตติ หลุดพ้นด้วยตัดขาดได้แก่ พ้นจากกิเลสด้วยอริยมรรค กิเลสเหล่านั้นขาดเด็ดไป ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เป็นโลกุตตรวิมุตติ (ข้อ ๓ ในวิมุตติ ๕)
สมุจเฉทวิรัติ การเว้นด้วยตัดขาด หมายถึงการเว้นความชั่วได้เด็ดขาดของพระอริยเจ้า เพราะไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่วนั้นๆ (ข้อ ๓ ในวิรัติ ๓)
สมุฏฐาน ที่เกิด, ที่ตั้ง, เหตุ; ทางที่เกิดอาบัติ โดยตรงมี ๔ คือ ๑. ลำพังกาย ๒. ลำพังวาจา ๓. กายกับจิต ๔. วาจากับจิต และที่ควบกันอีก ๒ คือ ๑. กายกับวาจา ๒. กายกับวาจากับทั้งจิต