ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สังขตธรรม - สังขาร ๒

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สังขตธรรม - สังขาร ๒

สังขตธรรม ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ตรงกับสังขารในคำว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น; ตรงข้ามกับ อสังขตธรรม

สังขตลักษณะ ลักษณะแห่งสังขตธรรม, ลักษณะของปรุงแต่ง มี ๓ อย่าง ๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ ๒. ความดับสลาย ปรากฏ ๓. เมื่อตั้งอยู่ ความแปร ปรากฏ

สังขาร
1.
สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, ตรงกับคำว่า สังขตะหรือสังขตธรรม ได้ในคำว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น
2. สภาพที่ปรุงแต่งใจ ให้ดีหรือชั่ว, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำมีทั้งที่ดีเป็นกุศล ที่ชั่วเป็นอกุศล ที่กลางๆ เป็นอัพยากฤตได้แก่เจตสิก ๕๐ อย่าง (คือเจตสิกทั้งปวงเว้นเวทนาและสัญญา) เป็นนามธรรมอย่างเดียว, ตรงกับสังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ได้ในคำว่ารูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น;
อธิบายอีกปริยายหนึ่งสังขารตามความหมายนี้ยกเอาเจตนาขึ้นเป็นตัวนำหน้า ได้แก่สัญเจตนา คือ เจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่าง คือ
๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา
๒. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา
๓. จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่ง การกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา

3. สภาพที่ปรุงแต่งชีวิตมี ๓ คือ ๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ๒. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกและวิจาร ๓. จิตตสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่สัญญาและเวทนา

สังขาร ๒ คือ ๑. อุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมครอบครอง ๒. อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมไม่ครอบครอง, โดยปริยายแปลว่า สังขารที่มีใจครอง และสังขารที่ไม่มีใจครอง




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย