ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สมฺมาสมฺพุทฺโธ - สากิยานี

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สมฺมาสมฺพุทฺโธ - สากิยานี

สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือรู้อริยสัจ ๔ โดยไม่เคยได้เรียนรู้จากผู้อื่น จึงทรงเป็นผู้เริ่มประกาศสัจธรรม จากผู้อื่น เป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และจึงได้พระนามอย่างหนึ่งว่าธรรมสามี คือเป็นเจ้าของธรรม (ข้อ ๒ ในพุทธคุณ ๙)

สัมมาสัมโพธิญาณ ญาณเป็นเครื่องตรัสรู้เองโดยชอบ

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด เช่น โกงเขา หลอกลวง สอพลอ บีบบังคับขู่เข็ญ ค้าคน ค้ายาเสพติด ค้ายาพิษ เป็นต้น (ข้อ ๕ ในมรรค)

สัมมุขาวินัย ระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า, วิธีระงับต่อหน้า ได้แก่การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ (สังฆสัมมุขตา คือภิกษุเข้าประชุมครบองค์สงฆ์), ในที่พร้อมหน้าบุคคล (ปุคคลสัมมุขตา คือบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้ากัน), ในที่พร้อมหน้าวัตถุ (วัตถุสัมมุขตา คือยกเรื่องที่เกิดนั้นขึ้นวินิจฉัย), ในที่พร้อมหน้าธรรมวินัย (ธัมมสัมมุขตา และวินยสัมมุขตา คือนำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติ ได้แก่วินิจฉัยถูกธรรมถูกวินัย), สัมมุขาวินัยใช้เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ได้ทุกอย่าง

สัมโมทนียกถา “ถ้อยคำเป็นที่บันเทิงใจ”, คำต้อนรับทักทาย, คำปราศรัย; ปัจจุบันนิยมเรียกสุนทรพจน์ที่พระสงฆ์กล่าวว่า สัมโมทนียกถา

สัมฤทธิ์ ความสำเร็จ

สัลลวตี แม่น้ำที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบท ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่าอัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับอุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๒)

สัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงข้าวกล้า, พระปรีชาในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่งที่พระราชาจะพึงทรงบำเพ็ญ

สากัจฉา การพูดจา, การสนทนา

สากิยานี เจ้าหญิงวงศ์ศากยะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย