สายโยค - สาราณียธรรม
สายโยค สายโยก, สายรัด ใช้กับถุงต่างๆ เช่น ที่ประกอบกับถุงบาตรแปลกันว่าสายโยกบาตร (บาลีว่า อํสวทฺธก); บางแห่งแปล อาโยค คือผ้ารัดเข่า หรือ สายรัดเข่า ว่า สายโยคก็มี แต่ในพระวินัยปิฎก ไม่แปลเช่นนั้น
สายัณห์ เวลาเย็น
สารณา การให้ระลึก ได้แก่กิริยาที่สอบถามเพื่อฟังคำให้การของจำเลย, การสอบสอบสวน
สารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ เดิมเป็นฤดูทำบุญด้วยเอาข้าวที่กำลังท้อง (ข้าวรวงเป็นน้ำนม) มาทำยาคูและกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ อย่างนี้เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ ส่วนผู้นับถือพุทธศาสนานำคตินั้นมาใช้ แต่เปลี่ยนเป็นถวายแก่พระภิกษุสงฆ์อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติในปรโลก สำหรับชาวบ้านทั่วไปมักทำแต่กระยาสารท เป็นต้น (ต่างจาก ศราทธ์)
สารนาถ ชื่อปัจจุบันของอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เคยเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีเจดีย์ใหญ่สูง ๒๐๐ ฟุต ถูกชาวฮินดูทำลายก่อน แล้วถูกนายทัพมุสลิมทำลายสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๑๗๓๘ (สารนาถมาจาก สารังคนาถ แปลว่า ที่พึ่งของเหล่ากวางเนื้อ)
สารัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก พระสารีบุตรเถระ แห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖-๑๗๒๙)
สารัตถปกาสินี ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในสังยุตตนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนาในเกาะลังกา เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
สารันทเจดีย์ เจดียสถานแห่งหนึ่งที่เมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ บาลีเป็น สารันททเจดีย์
สารัมภะ แข่งดี (ข้อ ๑๒ ในอุปกิเลส ๑๖)
สาราค ราคะกล้า, ความกำหนัดย้อมใจ
สาราณียธรรม ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือกัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มี ๖ อย่าง คือ
๑. ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร
๒. ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร
๓. ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร
๔. แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม
๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนภิกษุสามเณร (มีสีลสามัญญตา)
๖. มีความเห็นร่วมกันได้กับภิกษุสามเณรอื่นๆ (มีทิษฐิสามัญญตา);
สารณียธรรม ก็เขียน