ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด เสนาสนคาหาปกะ - โสณะ, โสณกะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


เสนาสนคาหาปกะ - โสณะ, โสณกะ

เสนาสนคาหาปกะ ผู้ให้ถือเสนาสนะ หมายถึงภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้ทำหน้าที่จัดแจกเสนาสนะของสงฆ์

เสนาสนปัจจัย ปัจจัยคือเสนาสนะ, เครื่องอาศัยของชีวิตคือที่อยู่ เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัยสี่

เสนาสนปัญญาปกะ ผู้แต่งตั้งเสนาสนะหมายถึงภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดแจงแต่งตั้งดูแลความเรียบร้อยแห่งเสนาสนะ สำหรับภิกษุทั้งหลายจะได้เข้าพักอาศัย

เสนาสนวัตร ธรรมเนียมหรือข้อที่ภิกษุควรปฏิบัติเกี่ยวกับเสนาสนะ เช่น ไม่ทำเปรอะเปื้อน รักษาความสะอาด จัดวางของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้สอยระวังไม่ทำให้ชำรุด และเก็บของใช้ไม่ให้กระจัดกระจายสับสนกับที่อื่น เป็นต้น

เสนาสนะป่า เสนาสนะอันอยู่ไกลจากบ้านคนอย่างน้อย ๒๕ เส้น

เสพ บริโภค, ใช้สอย, อยู่อาศัย, คบหา

เสพเมถุน ร่วมประเวณี, ร่วมสังวาส

เสมหะ เสลด, เมือกที่ออกจากลำคอ หรือลำไส้

เสมฺหสมุฏฺฐานา อาพาธา ความเจ็บไข้ มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน

เสละ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในอังคุตตราปะ เรียนจบไตรเพท เป็นคณาจารย์สอนศิษย์ ๓๐๐ คน ได้พบพระพุทธเจ้าที่อาปณนิคม เห็นว่าพระองค์สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะครบถ้วนและได้ทูลถามปัญหาต่างๆ เมื่อฟังพระดำรัสตอบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวช ต่อมาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต

แส่โทษ หาความผิดใส่, หาเรื่องผิดให้

แสนยากร หมู่ทหาร, กองทัพ

โสกาดูร เดือนร้อนด้วยความโศก, ร้องไห้สะอึกสะอื้น

โสณะ, โสณกะ พระเถระรูปหนึ่งในจำนวน ๒ รูป (อีกรูปหนึ่งคือพระอุตตรเถระ) ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ส่งเป็นพระศาสนทูตมาประกาศพระศาสนา ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ ๓ (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๔) นับเป็นสายหนึ่งในพระศาสนทูต ๙ สาย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย