พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด โสณกุฏิกัณณะ - โสณา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


โสณกุฏิกัณณะ - โสณา

โสณกุฏิกัณณะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรของอุบาสิกา ชื่อกาฬี ซึ่งเป็นพระโสดาบัน เกิดที่บ้านเดิมของมารดา ในเมืองราชคฤห์แล้วกลับไปอยู่ในตระกูลบิดาที่แคว้นอวันตี ทักขิณาบถ พระมหากัจจายนะให้บรรพชาเป็นสามเณร แล้วรอต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านหาภิกษุได้ครบ ๑๐ รูปแล้ว จึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุบวชแล้วไม่นานก็สำเร็จพระอรหัต ต่อมาท่านได้เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เมืองสาวัตถี พร้อมทั้งนำความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมากราบทูลขอพระพุทธานุญาตด้วยรวม ๘ ข้อ ทำให้เกิดมีพระพุทธานุญาตพิเศษสำหรับปัจจันตชนบท เช่น ให้สงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปให้อุปสมบทได้ ให้ใช้รองเท้าหนาหลายชั้นได้ ให้อาบน้ำได้ตลอดทุกเวลา เป็นต้น ท่านแสดงธรรมมีเสียงไพเราะแจ่มใสชัดเจนจึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางกล่าวกัลยาณพจน์

โสณโกฬิวิสะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเดิมเป็นกุลบุตรชื่อโสณะ ตระกูล โกฬิวิสะ เป็นบุตรของอุสภเศรษฐีแห่งวรรณะแพศย์ ในเมืองกาฬจัมปากแคว้นอังคะ โสณกุลบุตรมีลักษณะพิเศษในร่างกาย คือ มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม และมีขนอ่อนข้นภายใน อีกทั้งมีความเป็นอยู่อย่างดี ได้รับการบำรุงบำเรอทุกประการ อยู่ในปราสาท ๓ ฤดู จึงได้สมญาว่าเป็น สุขุมาลโสณะ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับกิติศัพท์ จึงรับสั่งให้โสณะเดินทานไปเฝ้าและให้แสดงขนที่ฝ่ามือฝ่าเท้าให้ทอดพระเนตร คราวนั้นโสณะมีโอกาสได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้สดับพระธรรมเทศนา เกิดความเลื่อมใสขอบวช ท่านทำความเพียรอย่างแรงกล้าจนเท้าแตกและเริ่มท้อแท้ใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานโอวาทด้วยข้ออุปมาเรื่องพิณสามสาย ท่านปฏิบัติตาม ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปรารภความเพียร

โสณทัณฑพราหมณ์ พราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ เป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารให้ปกครองนครจัมปา

โสณทัณฑสูตร สูตรที่ ๔ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระสุตตันต ปิฎก ทรงแสดงแก่โสณทัณฑพราหมณ์

โสณา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของผู้มีตระกูลในพระนครสาวัตถี นางมีสามีแล้ว มีบุตร ๑๔ คน เป็นชาย ๗ คนหญิง ๗ คน ภายหลังสามีถึงแก่กรรม ลูกชายหญิงก็แต่งงานไปหมด จึงออกบวชเป็นภิกษุณี มีความเพียรอย่างแรงกล้า เจริญวิปัสสนาอยู่ในเรือนไฟ ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาได้บรรลุพระอรหัต ไดรับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปรารภความเพียร




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย