พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ญาณ ๑๖ - ญาติ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ญาณ ๑๖ - ญาติ

ญาณ ๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป
๒. (นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป
๓. สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
๔. - ๑๒. (ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙)
๑๓. โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
๑๔. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค
๑๕. ผลญาณ ญาณในอริยผล
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน;

ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือเรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส; ดู วิปัสสนาญาณ ๙

ญาณจริต คนที่มีพื้นนิสัยหนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วย แนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (เป็นอีกชื่อหนึ่งของพุทธิจริต)

ญาณทัศนะ, ญาณทัสสนะ การเห็นกล่าวคือการหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือ เห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุด หมายถึง วิปัสสนาญาณ นอกนั้นในที่หลายแห่งหมายถึง ทิพพจักขุญาณ บ้าง มรรคญาณ บ้าง และในบางกรณีหมายถึง ผลญาณ บ้าง ปัจจเวกขณญาณ บ้าง สัพพัญญุตญาณ บ้าง ก็มี ทั้งนี้สุดแต่ข้อความแวดล้อมในที่นั้น ๆ

ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ญาณในอริยมรรค ๔ ดู วิสุทธิ

ญาณวิปปยุต ปราศจากญาณ, ไม่ประกอบด้วยปัญญา, ปราศจากปรีชาหยั่งรู้, ขาดความรู้

ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือกำหนดรู้สิ่งนั้น ๆ ตามลักษณะที่เป็นสภาวะของมันเอง พอให้แยกออกจากสิ่งอื่น ๆ ได้ เช่น รู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ ดังนี้ เป็นต้น (ข้อ ๑ ในปริญญา ๓)

ญาตัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระญาติ, ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระประยูรญาติ เช่นทรงอนุญาตให้พระญาติที่เป็นเดียรถีย์เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อนเหมือนเดียรถีย์อื่น และเสด็จไปห้ามพระญาติ ที่วิวาทกันด้วยเรื่องน้ำเป็นต้น ดู พุทธจริยา

ญาติ พี่น้องที่ยังนับรู้กันได้, ผู้ร่วมสายโลหิตกันทางบิดาหรือมารดา, ในฎีกาวินัย ท่านนับ ๗ ชั้น ทั้งข้างบนและข้างล่าง แต่ตามปกติจะไม่พบมากหลายชั้นอย่างนั้น ปัจจุบันท่านให้นับญาติ ๗ ชั้น หรือ ๗ ชั่วคน คือ นับทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ชั้นตนเองเป็น ๑ ข้างบน ๓ (ถึงทวด) ข้างล่าง ๓ (ถึงเหลน), เขยและสะใภ้ ไม่นับเป็นญาติ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย