เราสามารถใช้บารมี ๑๐ ประเมินผลการปฏิบัติของเราได้...





"เราสามารถใช้บารมี ๑๐ ประเมินผลการปฏิบัติของเราได้ พิจารณาดูว่าคุณธรรมข้อนี้ๆ ของเรามีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ดีขึ้นหรือเลวลง ถ้าเลวลงก็แสดงว่ามีข้อบกพร่องที่ต้องรีบแก้ไข ถ้าดีขึ้น เราก็พยายามจับเหตุปัจจัยของความเจริญในข้อนั้น แล้วทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยต้องเชื่อมโยงคุณธรรมทุกข้อกับความหลุดพ้นซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด

บารมี ๑๐ เป็นหมวดธรรมที่เราทุกคนควรทำความคุ้นเคย ได้แก่

๑. ทาน การให้ การเสียสละ การคืนให้ธรรมชาติ เพื่อหลุดพ้นจากความตระหนี่และความยึดติดในวัตถุ
๒. ศีล การรักษากายวาจาภายในขอบเขตที่เรากำหนดไว้ด้วยความสมัครใจ ช่วยให้เราหลุดพ้นจากการสร้างกายกรรมวจีกรรมที่จะนำไปสู่อบาย ทำให้เราเคารพนับถือตัวเองได้
๓. เนกขัมมะ การฝึกตนให้สามารถออกจากกามเป็นระยะๆ กามคือโลกแห่งรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์ที่ชวนให้หลง ทำให้เกิดความเครียดความกลัวที่จะต้องพลัดพรากจากความสุขทางโลกที่เคยได้รับ เป็นเหตุให้กิเลสต่างๆ พร้อมที่จะเกิด เนกขัมมะช่วยให้เราหลุดพ้นแม้เพียงชั่วคราวจากความดึงดูดและความหมกมุ่นในกาม
๔. ปัญญา การใช้เหตุผล รู้จักวิเคราะห์เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต สามารถแยกแยะประเด็น ช่วยให้เราหลุดพ้นจากความงมงายและความหลงใหลต่างๆ
๕. วิริยะ การทำความเพียรฝึกตน เพื่อป้องกันกิเลสที่ยังไม่มีในจิตใจไม่ให้เข้ามาครอบงำ แต่ถ้ามันเข้ามาแล้ว ต้องเพียรขจัดมันให้ได้ ต้องปลูกฝังคุณธรรมความดีที่ยังไม่มีให้ปรากฏ และเพียรทำสิ่งดีๆ ที่ปรากฏแล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป วิริยะทำให้เราหลุดพ้นจากความขี้เกียจขี้คร้าน การปล่อยสิ่งต่างๆ ให้ลอยไปตามกระแส โดยเอาสิ่งที่ง่ายที่ถูกใจเป็นหลัก
๖. ขันติ ความอดทน คือ การรักษาความปกติของจิตใจไว้ท่ามกลางความไม่ปกติด้วยปัญญา ช่วยให้สติทำงานได้ เพื่อหลุดพ้นจากการปฏิบัติต่อชีวิตแบบโต้ตอบตามความเคยชิน โดยเฉพาะต่อสิ่งที่ไม่ชอบไม่น่าปรารถนา
๗. สัจจะ ทำจริงพูดจริงคิดจริง รักความจริง มีสัจจะกับตัวเอง ทำให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่จริงและจากมายาการหลอกลวงคดโกงต่างๆ ทำให้เคารพนับถือตัวเองได้ คำพูดมีน้ำหนัก ชุมชนคนดีเคารพนับถือ จิตใจสะอาดสงบขึ้น ทำให้ชีวิตเรียบง่ายและโปร่งใส
๘. อธิษฐาน การใช้พลังจิตตั้งเป้าหมายย่อยๆ ไว้เป็นระยะๆ เพื่อเป็นกำลังใจและช่วยให้ชีวิตดำเนินตรงตามเส้นทางสู่เป้าหมายสูงสุดคือมรรคผลนิพพาน ควรอธิษฐานเรื่องที่ไม่ยากเกินไปจนเข้าไม่ถึง หรือง่ายเกินไปจนไม่เกิดความภูมิใจ ทำให้เราหลุดพ้นจากการมัวแต่วนไปเวียนมา ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน
๙. เมตตา เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อสัตว์ทั้งปวงโดยไม่มียกเว้น ช่วยให้หลุดพ้นจากการพยาบาท ความโกรธ ความแค้น
๑๐. อุเบกขา ทำจิตใจให้มั่นคงดั่งภูผา ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค ทำให้หลุดพ้นจากความหวั่นไหวตามโลกธรรม ไม่ยินดีในลาภยศสรรเสริญ ไม่ยินร้ายในการเสื่อมลาภเสื่อมยศและคำนินทา สามารถทำสิ่งที่ถูกต้องทั้งๆที่ไม่ถูกใจ สามารถงดจากสิ่งที่ถูกใจเพราะมันไม่ถูกต้อง จิตสามารถอยู่กับความถูกต้องอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง"

พระอาจารย์ชยสาโร    




 2,660 


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย