ความสุภาพทางวาจาจึงเป็นเรื่องชาญฉลาด



"ข้อพึงพิจารณา ๕ ข้อ สำหรับฝึกเจริญสติทางวาจาทั้งของตนและผู้อื่น ได้แก่

ความเหมาะสมกับกาลเทศะ
ความจริงของสิ่งที่พูด
คุณค่าหรือประโยชน์ของคำพูด
เจตนาของผู้ที่เกี่ยวข้อง
คุณภาพหรือท่าทีในการพูด

สำหรับตัวเราเอง การฝึกสัมมาวาจาตามข้อพิจารณาเหล่านี้ คือ เราพยายามพูดแต่เรื่องที่เป็นจริง มีประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ พูดอย่างสุภาพด้วยจิตที่ตั้งอยู่ในเมตตา

ส่วนการฝึกสติสำหรับวาจาของผู้อื่น มีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

บุคคลตรงหน้าเราอาจมีทั้งพูดความจริง ตั้งใจพูดเท็จ หรือพูดเท็จโดยคิดว่าเป็นเรื่องจริง ในเมื่อข้อหลังสุดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เราจึงไม่ควรด่วนสรุปเวลาจับได้ว่ามีใครพูดเท็จ เพราะเขาอาจจะไม่ตั้งใจก็ได้

สำหรับคุณค่าหรือประโยชน์ของคำพูดในที่นี้ ไม่ได้จำกัดเพียงเนื้อหา อย่างเช่นบางคนอาจจะพูดเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นสาระ แต่พูดแล้วสบายใจขึ้น ช่วยให้ยอมรับเรื่องเจ็บปวดในชีวิตได้ ถ้าเป็นลักษณะนี้ ก็อาจถือว่าเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ ประโยชน์ในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งทางความรู้ ทางอารมณ์ หรือทางธรรม

เจตนาของคนเรามักปะปนกันไป เราพึงเตือนตนเองว่าไม่อาจรู้วาระจิตของใคร จะรู้ได้ก็แต่เพียงการสันนิษฐานว่าเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไร

วาจาหยาบคายมักทำให้เจ็บใจและแตกแยก แต่วาจาสุภาพไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อได้ฟังความคิดเห็นที่แสดงออกอย่างสุภาพ เรามักจะยินดีรับฟังมากกว่า ความสุภาพทางวาจาจึงเป็นเรื่องชาญฉลาด"

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

3,097







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย