เสวนาและภาวนาเรื่อง “ตารากับปณิธานพระโพธิสัตว์ร่วมสมัย”

 1000stars  

เสวนาและภาวนาเรื่อง “ตารากับปณิธานพระโพธิสัตว์ร่วมสมัย”
พิธีมนตราภิเษกพระโพธิสัตว์ตารา(Tara and Bodhisattva Training)
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖
ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ความเป็นมาของกิจกรรม
ปณิธานของพระโพธิสัตว์ได้แก่การตั้งจิตอธิษฐานและลงมือปฏิบัติจริง เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ เนื่องจากความทุกข์ปรากฏมาในหลากหลายรูปแบบ การปฏิบัตินี้จึงต้องมีในหลายรูปแบบด้วย รวมถึงการเป็นจิตอาสา การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านต่างๆ พระโพธิสัตว์ตาราเป็นบุคลาธิษฐานของความกรุณาของพระพุทธเจ้าในการช่วยเหลือสรรพสัตว์
การงานของมูลนิธิประกอบด้วยการเชื่อมโยงผู้คนจากหลายมุมมองเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเครือข่ายแห่งรักและกรุณาในสังคม ตลอดเวลาแปดปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้จัดกิจกรรมวิชาการ ภาวนา งานสาธารณประโยชน์ งานจิตอาสา ตลอดจนการจัดจาริกแสวงบุญไปทิเบต นอกจากนี้มูลนิธิฯยังได้สร้างศูนย์ขทิรวัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และที่พักพิงใจของประชาชน และที่ศูนย์แห่งนี้ได้มีการดำเนินงานโครงการก่อสร้างพระศานติตารามหาสถูป ซึ่งกำเนิดจากปณิธานแบบพระโพธิสัตว์
การจัดเสวนาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำภูมิปัญญาทิเบตหิมาลัยมาสู่ประเทศไทย เป็นการปลุกจิตสำนึกในมิติด้านจิตวิญญาณและบทบาทของแต่ละคนต่อสันติสุขของมวลมนุษยชาติ

วัตถุประสงค์
๑ สร้างเครือข่ายแห่งรักและกรุณาในสังคม
๒ อนุรักษ์ภูมิปัญญาพุทธทิเบตหิมาลัย
- ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติธรรม และประชาชนทั่วไป
- น้อมนำมงคลจากพิธีมนตราภิเษกมาสู่แผ่นดินไทย

ลงทะเบียน
ลงทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ [url]1000tara@gmail.com[/url] ทางมูลนิธิยินดีบริการอาหารว่างและอาหารกลางวัน ท่านสามารถบริจาคร่วมกิจกรรมตามจิตศรัทธา

กําหนดการ
๐๘.๐๐ – ๐๙.๐๐ ลงทะเบียน
๐๙.๑๕ – ๙.๔๕ เปิดงานและปาฐกถานํา "พระโพธิสัตวตาราในโลกปัจจุบัน"
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
๙.๔๕ – ๑๐.๐๐ รายงานการดำเนินงานมูลนิธิพันดารา
๑๐.๐๐ – ๑๐.๓๐ อาหารว่าง
๑๐.๓๐ – ๑๑.๓๐ “ปณิธานพระโพธิสัตว์กับการทำงานเพื่อสังคม” คุณรสนา โตสิตระกูล
๑๑.๓๐ – ๑๒.๓๐ เรื่องราวเกี่ยวกับพระแม่ตาราในทิเบตและบันทึกการจาริกหัวใจสู่แคว้นคาม ผู้สนทนา: อาจารย์กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์, ดร. เขมนิจ บุราคม, คุณวิรัช หวังเจริญวงศ์
๑๒.๓๐ – ๑๓.๓๐ อาหารกลางวัน
๑๓.๓๐ – ๑๔.๓๐ บรรยายธรรม “การปฏิบัติพระโพธิสัตว์ตาราเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น”
พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช
๑๔.๓๐ – ๑๕.๐๐ อาหารว่าง
๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ พิธีมนตราภิเษกพระโพธิสัตว์ตาราเขียว (Green Tara) ปางขทิรวนีตารา หรือ ตาราป้องกันภัยแปดประการ

ในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ โครงการ ของฉัน...ปันเป็นบุญ การจำหน่ายสินค้าทิเบตหิมาลัย และหนังสือธรรมะ ผู้สนใจยังสามารถขอรับหนังสือบทปฏิบัติและสวดบูชาพระโพธิสัตว์ตารา (หนังสือเล่มใหม่ของมูลนิธิพันดารา) โดยร่วมบุญตามจิตศรัทธา


พระโพธิสัตว์ตารา
พระมหาโพธิสัตว์อารยาตารา (ภาษาทิเบต: เจซูน เตรอมา) เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา ทรงกำเนิดจากน้ำพระเนตรของพระอวโลกิเตศวร เมื่อครั้งที่ทรงพระกรรแสงเนื่องจากทรงไม่สามารถช่วยเหลือสัตว์ทั้งโลกทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ได้ พระโพธิสัตว์ตาราทรงเป็นที่รักและกราบบูชาของชาวพุทธในทิเบต หิมาลัยและมองโกเลีย พวกเขามักสวดคาถาหัวใจ "โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร โซฮา" และสวดบทสรรเสริญตารา ๒๑ องค์
พระโพธิสัตว์ตาราทรงมี ๒๑ ปาง แต่ปางที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ตาราเขียว (ขทิรวนีตารา) และตาราขาว (จินดามณีจักรตารา) ตาราเขียวเป็นปางคุ้มครองนักเดินทางจากภัยอันตราย ทรงประทานพรให้พ้นจากความทุกข์ ความกลัว และดลบันดาลให้การงานสำเร็จโดยเร็ว ตาราขาวเป็นปางประทานอายุยืนยาวและการบำบัดรักษาโรค
ในการเสวนาและพิธีมนตราภิเษกครั้งนี้ จะเริ่มด้วยการบรรยายธรรมในหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทของพระโพธิสัตว์ในสังคมร่วมสมัย พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่ตั้งปณิธานจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ การช่วยเหลือดังกล่าวแสดงตัวออกมาได้หลายรูปแบบ วิธีการใดที่สามารถทำให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ได้ พระโพธิสัตว์ก็จะทำเช่นนั้นทั้งหมด เมื่อสังคมสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในหลายด้าน วิธีการของพระโพธิสัตว์ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในช่วงบ่ายจะเป็นพิธีมนตราภิเษกพระโพธิสัตว์ตารา

พิธีมนตราภิเษก
พิธีมนตราภิเษก ตรงกับภาษาอังกฤษว่า empowerment หรือ initiation เป็นพิธีตามประเพณีศาสนาพุทธวัชรยานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้รับพรจากพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าผ่านพระอาจารย์ผู้ทำพิธีผู้ได้รับการถ่ายทอดคำสอนตามสายการปฏิบัติธรรม การเข้าร่วมพิธีนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถสวดคาถาหัวใจของพระองค์และนั่งสมาธิถึงพระองค์ได้ อานิสงส์ของการได้รับมนตราภิเษก ทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และได้บ่มเพาะความเมตตากรุณา ดินแดนที่ได้รับมนตราภิเษกยังเชื่อว่าจะเกิดความร่มเย็นเป็นสุขและความเป็นมงคล
ก่อนการเข้าร่วมพิธี ผู้ปฏิบัติธรรมควรตั้งจิตว่าจะเข้าร่วมพิธีเพื่อประโยชน์ของตนเองและสัตว์ทั้งหลาย ให้การได้รับมนตราภิเษกเป็นดังการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการตรัสรู้ธรรม เมื่อได้รับมนตราภิเษกพระแม่ตาราแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมควรหมั่นสวดคาถาหัวใจและนั่งสมาธิถึงพระองค์เป็นนิจ หากได้ทำเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมก็จะพบแต่ความสุขในชีวิตและได้รับผลของการปฏิบัติบูชาพระโพธิสัตว์

พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช
กุงกา ซังโป ริมโปเช เกิดในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ในครอบครัวชนเผ่าเร่ร่อนที่ตำบล ปาทัง เมืองเจคุนโด เขตปกครองตนเองยูชู แคว้นคามมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ทานมีโอกาสได้บวชเรียนเมื่ออายุ ๑๗ ปี โดยจำพรรษาที่วัดเจคุนโด วัดสาเกียปะที่ใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองยูชู พระปฐมคุรุของท่านคือ อาตรัก ริมโปเช อาจารย์นักปฏิบัติคนสำคัญซึ่งมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พระอาจารย์ของท่านอีกรูปหนึ่งคือ ลูดิง เคนริมโปเช ประมุขนิกายงอเชนของสาเกียปะและเจ้าอาวาสวัดซังโงรูในนครลาซา ปัจจุบันลูดิง เคนริมโปเชจำพรรษาที่เมืองเดราห์ดุน ประเทศอินเดีย
เมื่ออายุ ๒๐ ปี กุงกา ซังโป ริมโปเชได้ศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียน ภาษาทิเบตที่เมืองเดรเก จากนั้น ท่านไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอาริก เชอตรา เชนโม ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับพระสงฆ์ ที่เมืองซาชูคา มณฑลเสฉวน ที่โรงเรียนนี้ ท่านได้ศึกษาพระธรรมเป็นเวลา ๖ ปีกับเปมา เซวัง เคนริมโปเช พระอาจารย์ญิงมาปะที่มีชื่อเสียง
หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนที่ซาชูคา ท่านมีโอกาสไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยพุทธศาสนาสายทิเบตแห่งประเทศจีน กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาสำคัญที่สุดที่หนึ่งสำหรับทุลกุ (นิรมาณกาย/พระกลับชาติมาเกิด) หลังจากนั้น ท่านสอนหนังสืออยู่ที่เจคุนโดเป็นเวลา ๙ ปี ในปี ๒๕๔๓ ท่านสอบเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์และปรัชญาทิเบตที่มหาวิทยาลัยชนชาติกลุ่มน้อยส่วนกลาง กรุงปักกิ่ง ในระหว่างที่อยู่ปักกิ่งนี้เอง ท่านได้สอนพระสูตรให้แก่ลามะกลับชาติมาเกิดที่วิทยาลัยพระสูตรและได้สอนธรรมะให้แก่ลูกศิษย์ชาวจีนเป็นจำนวนมาก ท่านรจนาคัมภีร์ในนิกายสาเกียปะเกิน ๕๐ เล่มและเป็นบรรณาธิการสำคัญในการทำพจนานุกรมพุทธศาสตร์ภาษาทิเบตและจีน พระอาจารย์ได้รับนิมนต์เดินทางไปบรรยายในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาหลายครั้ง



6,231






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย