ค้นหาในเว็บไซต์ :
พระอุรุเวลกัสสปเถระ

ประวัติ : พระอุรุเวลกัสสปเถระ

   พระอุรุเวลกัสสปเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร มีน้องชาย ๒ คน ชื่อว่า กัสสป ตามโคตรทั้งนั้น แต่ได้นำสถานที่พำนักอาศัยรวมเข้าข้างหน้าด้วย ว่า นทีกัสสป และ คยากัสสป เมื่อเจริญวัยขึ้นได้เรียนจบไตรเพท มีมาณพเป็นบริเวาร ๕๐๐ คน ต่อมาพิจารณาเห็นลัทธิที่ตนนับถือ ไม่เป็นแก่นสาร จึงได้พาน้องชาย ๒ คน พร้อมด้วยบริวารออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่เรียงกันไป ตามลำดับ

    ท่านอุรุเวลกัสสปซึ่งเป็นพี่ชายคนโตตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ เมื่อพระศาสดาพิจารณา เห็นอุปนิสัยที่แก่กล้าสมบูรณ์ และมีพระประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น ณ แคว้นมคธนั้น และมีพุทธดำริจะพาท่านอุรุเวลกัสสปะ ผู้มีอายุมาก ผู้เป็นที่เคารพนับถือของมหาชนตามเสด็จไปด้วย จึงได้เสด็จดำเนินไปลำพังพระองค์เดียว ระหว่างทางได้เทศนา โปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน และประทานอุปสมบทให้ แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา

    เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้วตรัสขอที่พักกับท่านอุรุเวลกัสสปะ ชฎิลอุรุเวลกัสสปะไม่เต็มใจที่จะให้แต่ก็ขัดไม่ได้ พระพุทธองค์ได้ทรมานท่านอุรุเวลกัสสปะด้วยอภินิหารต่าง ๆ จนในที่สุดอุรุเวลกัสสปะเกิดความสลดใจว่า ลัทธิของตนเองไม่มีแก่นสาร ต่อมาได้พาบริวาร ๕๐๐ คน นำบริขารของชฎิลไปลอยทิ้งในแม่น้ำ แล้วทูลขออุปสมบท และได้รับการอุปสมบททั้งหมดด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา

    ต่อมาน้องชาย ๒ คน ก็พาบริวารของตนเข้ามาอุปสมบทเหมือนพี่ชาย รวมแล้วพระพุทธเจ้าได้สวกเพิ่มขึ้นอี ๑,๐๐๓ รูป เมื่อท่านเหล่านั้นอินทรีย์แก่กล้าแล้วจึงตรัสเทศนาชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร โปรด เมื่อจบเทศนาแล้ว จิตของท่านเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน คือได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระขีณาสพ

     พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ พอสมควรแก่เวลาแล้ว พระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป เสด็จจาริกไปตามลำดับถึงเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่สวนตาลหนุ่มชื่อว่า ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวจึงพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า

    พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร มีกิริยาอาการไม่อ่อนน้อม ไม่เรียบร้อย จึงตรัสสั่งพระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่า ลัทธิเก่านั้นหาแก่นสารมิได้

    ท่านกระทำตามรับสั่งแล้วทำให้คนเหล่านั้นสิ้นความเคลือบแคลงสงสัยแล้วตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงแสดง อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ เวลาจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ ส่วนได้ ดวงตาเห็นธรรม อีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ ครั้งนี้จัดว่าท่านอุรุเวลกัสสปะได้ช่วยเป็นกำลังพระศาสนาในการประดิษฐาน พระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ

     ผลจากการที่ท่าน ได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่กำลังความสามารถ ทำให้ได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก การที่ท่านมีบริวารมากเพราะรู้จักเอาใจบริษัท สงเคราะห์ด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรมบ้างตามที่ต้องการ

ท่านดำรงชนมายุสังขาร อยู่พอสมควรแก่กาลก็ดับขันธปรินิพพาน

อาทิตตปริยายสูตร

     อาทิตตปริยายสูตร เป็นชื่อพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป มีท่านอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น ผู้เคยเป็นชฎิลบูชาไฟมาก่อน ใจความแห่ง พระสูตรมีว่า

     ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวง คือ จักษุ คือนัยน์ตา โสตะ คือหู ฆานะ คือจมูก ชิวหา คิอลิ้น กายโผฏฐัพพะ คืออารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย มโน คือใจ สิ่ง ๖ อย่างนี้เรียกว่า อายตนะภายใน ๖ สิ่งทั้ง ๖ นั้นร้อนเพราะอะไร อะไรมาเผาให้ร้อน เราตถาคตกล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะความกำหนัดยินดี โทสะคือความโกรธ โมหะคือความหลง ร้อนเพราะ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก พิไรรำพัน เจ็บกาย เสียใจ คับแค้นใจ ไฟกิเลส และไฟทุกข์เหล่านี้มาเผาให้เกิดความร้อน

     ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ที่ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง ตั้งแต่เบื่อหน่ายในจักษุไปจนถึงเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมปราศจากความกำหนัดรักใคร่ และเมื่อปราศจากความรักใคร่แล้ว จิตก็หลุดพ้น จากความถือมั่น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้นทราบชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอย่างอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย