"เป็นผู้มีตนเสมอกัน" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
.
"เป็นผู้มีตนเสมอกัน"
" .. ทีนี้ส่วนที่เสมอกันนั้นก็เป็นต้นว่า "มีความเป็นมนุษย์เสมอกัน" เพราะว่าเกิดโดยชาติแห่งมนุษย์เสมอกันและเมื่อเกิดมาแล้วก็ "จะต้องแก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน" จะต้องประกอบด้วยลักษณะที่ "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" เสมอกันหมด
แม้โดยกรรมเอง ทุกคนผู้ทำกรรม "แม้จะต่างกันโดยกรรม ก็เสมอกันโดยที่มีกรรมเป็นของตน" เป็นทายาทรับผลแห่งกรรมที่ตนทำเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้นใคร นี่เป็นข้อที่เสมอกันและนอกจากนี้ "ยังเสมอกันได้โดยที่ประพฤติพระธรรม วินัยร่วมกันเสมอกัน"
ทั้งเมื่อปฏิบัติในสาราณียธรรม "ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความรักเคารพกัน" คือว่า "ตั้งเมตตา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมต่อกัน" เฉลี่ยเผื่อแผ่ เจือจานลาภที่ได้มาโดยชอบธรรมให้แก่กัน "ประพฤติศีลเสมอกัน มีทิฐิคือความเห็นที่ตรงต่อพระธรรมวินัยเสมอกัน" ดังนี้แล้วก็แปลว่า "เป็นผู้มีตนเสมอกัน" .. "
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
๓ ตุลาคม ๒๕๒๐