เพ่งนอก ลืมใน (พระไพศาล วิสาโล)

 ลูกโป่ง  




 เพ่งนอก ลืมใน
 
 พระไพศาล วิสาโล 


หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น
ท่านเคยอธิบายอริยสัจสี่อย่างน่าสนใจไม่เหมือนใคร
ท่านบอกว่า จิตส่งออกนอก คือ สมุทัย
ผลของการที่จิตส่งออกนอก คือ ทุกข์


ตรงนี้เป็นเรื่องน่าพิจารณา
เพราะพิจารณาดูแล้วความทุกข์ส่วนใหญ่ของคนเรา
ก็เกิดจากการที่จิตส่งออกนอกนี่แหละ
จิตส่งออกไม่ใช่ออกจากตัวอย่างเดียว
แต่หมายถึงออกจากปัจจุบันด้วย
ไปอยู่กับอดีตหรือไม่ก็อนาคต
หรือไม่ก็จดจ่ออยู่กับอายตนะภายนอก
คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์
พอส่งจิตออกไปอย่างนั้นก็ทำให้ลืมกายลืมใจ
ลืมปัจจุบันไป ก็เลยพลาดท่าเสียที เกิดทุกข์ขึ้นได้


เมื่อเกิดผัสสะหรือรับรู้อายตนะภายนอกแล้วก็เกิดเวทนาขึ้น
จะเป็นสุขเวทนาหรือหรือทุกขเวทนาก็แล้วแต่
เวทนาส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราไปรับรู้เรื่องข้างนอก
หรือมีสิ่งข้างนอกมากระทบ จะเป็นดินฟ้าอากาศ
การกระทำของผู้คน หรือคำพูดของคนรอบข้าง
น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็แล้วแต่
ถ้าเกิดสุขเวทนาขึ้นก็พอใจ
ถ้าเกิดทุกขเวทนาขึ้นก็ไม่พอใจ
พอไม่พอใจก็เลยอยากผลักไสออกไป
ถ้ามันไม่ไปก็ทุกข์ ส่วนสุขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็พอใจ
พอใจแล้วก็อยากครอบครองหรืออยากยึดให้มันอยู่นานๆ
แต่ถ้ามันหายไป ก็ไม่พอใจ กลายเป็นทุกข์อีก
แต่ถึงแม้มันไม่หายไป ยังอยู่ ยังได้เสพได้สัมผัสอยู่
ก็อาจทำให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน
อาหารที่เอร็ดอร่อย เพลงที่ไพเราะ หนังที่สนุกสนาน
เสพใหม่ๆ หรือดูทีแรกก็มีความสุขดี
แต่ถ้าลองเสพทุกวัน กินทุกมื้อสัก ๑ เดือน
หรือดูสัก ๑๐ รอบ หรือฟังซ้ำสัก ๒๐ เที่ยว
ความสุขก็เริ่มจืดจาง รู้สึกเฉยๆ แล้วกลายเป็นความเบื่อความหน่าย
ถ้าเสพนานกว่านั้นความเบื่อก็กลายเป็นความเอียนไป


มีเหมือนกัน คนที่ดูหนังเป็นร้อย ๆ รอบ
อย่างดูหนังสตาร์วอร์ส ได้ข่าวว่ามีบางคนดูเป็น ๑๐๐..๒๐๐ รอบแล้ว
พวกนี้เป็นแฟนสตาร์วอร์สตัวจริง อาจเป็นพวกคลั่งก็ได้
แต่ว่าสักวันก็ต้องเบื่อโดยเฉพาะเมื่อตัวเองโตขึ้น
ได้พบเห็นโลกมากขึ้น ดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น
หรือดูหนังที่มีเทคนิคดีกว่า เร้าใจตื่นเต้นมากกว่า
ก็จะรู้สึกว่าสตาร์วอร์สไม่สนุกเสียแล้ว
อันนี้เรียกว่าเป็นปริณามทุกข์
คือ ทุกข์ที่เกิดจากการแปรปรวน หรือสุขที่กลายเป็นทุกข์


สุขสามารถกลายเป็นทุกข์ได้เมื่อประสบการณ์เปลี่ยนแปลงไป
อย่างอากาศบนศาลาตอนนี้ก็เย็นสบายดี
แต่พอเราเข้าไปอยู่ในห้องแอร์ที่เย็นกว่านี้
แล้วกลับออกมาอยู่ที่ศาลานี้เราจะรู้สึกเลยว่าศาลานี้อากาศร้อน
ไม่รู้สึกว่าอากาศเย็นสบายเหมือนตอนก่อนจะเข้าไปในห้องแอร์
ความทุกข์ของคนเราบ่อยครั้งก็เกิดขึ้นในลักษณะนี้
คือ เกิดจากการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดีกว่า อร่อยกว่า สบายกว่า
ที่เคยพอใจให้ความสุข ก็กลายเป็นไม่สุข หรือกลายเป็นทุกข์ไปทันที
ความทุกข์อย่างนี้เกิดจากการเปรียบเทียบ
แต่ก็เป็นผลอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากจิตส่งออกนอก
ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ


เมื่อจิตส่งออกนอก ไปกระทบกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ
ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า กาม ก็เกิดความอยาก ความอยากมันเป็นทุกข์ในตัว
เพราะอยากแล้วแต่ยังไม่ได้สมอยากก็เป็นทุกข์
เมื่ออยากแล้วก็ต้องดิ้นรนให้ได้มา
ถ้าของมีจำกัด ก็ต้องแก่งแย่งกัน
ถ้าใช้วิธีการที่ชอบธรรม ก็เดือดร้อนน้อยหน่อย
แต่ถ้าใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม
คือ ลักขโมย โกงเขา ก็ต้องมีเรื่องเดือดร้อนตามมา


แต่ถ้าส่งจิตออกนอกแล้ว ไปรับรู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ
ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาทันทีถ้าไม่มีสติ
เพราะมันจะปรุงแต่งไปต่างๆ นานา
จากความไม่พอใจก็กลายเป็นความหงุดหงิด
และลุกลามไปเป็นความโกรธ
ยิ่งหงุดหงิดยิ่งโกรธ จิตก็ยิ่งส่งออกนอก
เพราะคิดหาทางผลักไส ตอบโต้ หรือเล่นงาน
จนอาจถึงขั้นคิดหาทางทำร้าย
ถึงตรงนี้ใจก็ยิ่งปักตรึงอยู่กับสิ่งนั้น จนลืมกายลืมใจ
ลืมไปว่าความโกรธมันลุกลามและเผาลนจิตใจเพียงใด
โกรธก็ยังไม่รู้ว่าโกรธ ต่อเมื่อด่าเขาหรือทำร้ายเขาไปแล้ว จึงค่อยรู้ตัว
แต่รู้ตัวแล้วก็ยังอดไม่ได้จะไปโทษคนอื่น
หาว่าคนอื่นเป็นเหตุให้เราทำอย่างนั้น


เมื่อจิตเพ่งออกไปที่ข้างนอก เราก็มักจะลืมใจของเรา
มีเกร็ดเล่าเกี่ยวกับท่านเว่ยหลาง
ซึ่งเป็นสังฆปริณายกลัทธิเซ็นในจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อน
คราวหนึ่งท่านไปร่วมงานเฉลิมฉลองของสำนักหนึ่ง
มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ระหว่างนั้นเอง ก็มีพระ ๒ รูปยืนดูธงที่โบกสะบัด
รูปหนึ่งบอกว่า ...ธงไหว.; อีกรูปบอกว่า ไม่ใช่...ลมไหว...ต่างหาก
ต่างคนต่างมีเหตุผล ตอนแรกก็คุยกันดี ๆ ตอนหลังก็ชักมีอารมณ์
ระหว่างนั้นก็มีคนมาร่วมถือหางกันมากขึ้น บรรยากาศเริ่มร้อนแรง
เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงไปหาท่านเว่ยหล่างเพื่อขอให้ท่านตัดสินว่า
ธงไหวหรือลมไหวกันแน่ พอท่านเว่ยหล่างได้ฟังปัญหา
ท่านกลับตอบว่า จิตของพวกท่านต่างหากที่ไหว


แทนที่จะตอบว่าอะไรที่ไหว ท่านเว่ยหล่างกลับเตือนพระทั้ง ๒ รูป
ให้หันมาดูใจของตัวว่า กำลังไหวกระเพื่อมด้วยอารมณ์
ตรงนี้สำคัญกว่าคำตอบว่าธงไหวหรือลมไหว
เพราะใจที่ไหวกำลังทำให้ทั้ง ๒ รูปทะเลาะกันจนแทบจะเป็นเรื่องอยู่แล้ว
ขนาดใจไหวกระเพื่อมจนทะเลาะกัน
พระทั้ง ๒ รูปยังไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่ไปสนใจสิ่งนอกตัว


เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าไปสนใจสิ่งนอกตัว หรือส่งจิตไปปักตรึงนอกตัว
ก็จะลืมตัวได้ง่ายๆ พอลืมตัวแล้วกิเลส
เช่น ความโกรธหรือความโลภก็ครอบงำได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งก็ทำให้เกิดการทะเลาะบาดหมางกันได้ง่าย
ยิ่งถ้าไปจับผิดคนอื่น ก็ยิ่งมีโอกาสลืมตัวได้ง่าย
แล้วก็เลยทำให้เผลอทำอะไรที่ไม่น่าทำขึ้นมาได้ง่ายๆ


ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเล่าว่า ที่สวนโมกข์เคยมีแม่ชีคนหนึ่ง
มีหน้าที่หาหน่อไม้ไปทำอาหารถวายพระ
แม่ชีพบว่า หน่อไม้ที่ยังไม่ทันโตได้ที่มักจะถูกตัดบ่อยๆ สงสัยว่าจะเป็นชาวบ้าน
ดังนั้นจึงมักจะบอกชาวบ้านว่า
ถ้าเห็นหน่อไม้ที่ยังโตไม่ได้ที่ก็อย่าเพิ่งไปตัดมัน รอให้โตเสียก่อน
แต่บอกเท่าไรก็ไม่ได้ผล หน่อไม้อ่อนๆ ก็ยังถูกตัด
ซึ่งเป็นการเสียของอย่างมาก แม่ชีจึงโกรธ
วันหนึ่งไปเห็นหน่อไม้อ่อนอยู่หลายหน่อ
ทันทีที่เห็นแม่ชีก็รู้เลยว่าหน่อไม้เหล่านี้คงไม่พ้นมือชาวบ้าน
คิดแล้วก็โมโห แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
พอโมโหหนักเข้าแม่ชีก็เลยตัดหน่อไม้นั้นเสียเอง
ในใจคงคิดว่า ถ้าห้ามไม่ฟัง ก็อย่าหวังจะได้แตะหน่อไม้อ่อนเลย


แม่ชีบอกใครๆ ว่าอย่าตัดหน่อไม้อ่อน แต่ทำไมตัวเองถึงตัด
เป็นเพราะแม่ชีต้องการสั่งสอนชาวบ้าน
ใจที่คิดจะตอบโต้ชาวบ้านทำให้ลืมตัว เลยตัดหน่อไม้นั้นเสียเอง
ทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดที่จะเอาชนะชาวบ้าน ก็เลยลืมตัว
ทำสิ่งที่ตัวเองห้ามไม่ให้คนอื่นทำ


ที่สุคะโตเมื่อสิบกว่าปีก่อน พระเณรฉันอาหารเป็นวงทั้งเช้าและเพล
ก็มีพระรูปหนึ่งฉันดัง เคี้ยวดัง เวลาตักอาหารช้อนจะกระทบกับจานเสียงดัง
ที่จริงไม่ได้ดังมาก แต่พอได้ยินบ่อยๆ ทั้งเช้า เพล ทุกวัน
พระรูปหนึ่งก็หงุดหงิด ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นๆ ทุกวัน
ในที่สุดวันหนึ่งขณะที่พระกำลังฉันกันอยู่ดีๆ
ท่านก็ลุกขึ้นจากวงต่อว่าพระรูปนั้นเสียงดังลั่นไปทั้งศาลาเลยว่า
“ฉันดังเหลือเกิน รบกวนคนอื่นเขา ไม่รู้จักมารยาทหรือไง...
ว่าแล้วก็เดินออกไป ท่านโมโหพระรูปนั้นที่ฉันเสียงดัง
แต่ท่านไม่รู้เลยว่าที่ท่านลุกขึ้นมาโวยวายนั้น
ส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นยิ่งกว่าพระรูปนั้นเสียอีก


คนเราเมื่อจ้องมองคนอื่นมากเท่าไร
ก็มักจะลืมมองตัวเอง เลยเผลอทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
จึงอยากจะเตือนว่าเมื่อใดที่เรามองใครว่าเป็นปัญหา
ขอให้ระวังว่าตัวเราเองจะกลายเป็นปัญหาไปเสียเอง
เพราะเมื่อเรามองเห็นคนอื่นเป็นปัญหา
เราก็จะเริ่มสะสมความไม่พอใจเอาไว้
ความไม่พอใจเมื่อสะสมมากเข้าก็กลายเป็นความโกรธโดยไม่รู้ตัว
โกรธมากเท่าไรก็ลืมตัวมากเท่านั้น จึงเผลอทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ
ซึ่งกลายเป็นปัญหากับส่วนรวม
บางทีก่อปัญหามากกว่าคนที่เราไม่พอใจเขาเสียอีก


เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
ก็เพราะใจที่ไปจดจ่อกับสิ่งนอกตัวจนลืมดูใจของตน
ปล่อยให้ความโกรธเกลียดสะสมจนวันหนึ่งก็ระเบิดออกมา
มีหลายกรณีที่ไม่ใช่แค่ด่าเฉยๆ แต่ถึงกับลงไม้ลงมือและฆ่ากัน
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ในผับแห่งหนึ่ง มีคนพูดจาเอะอะโวยวาย
อีกคนก็ไม่พอใจ หาว่ารบกวนคนอื่น
พอขุ่นเคืองหนักเข้า ก็กลั้นโมโหไม่อยู่ ควักปืนยิงเขาตาย
การกระทำแบบนั้นแรงเกินกว่าเหตุ แค่เขาส่งเสียงดัง ก็ไปฆ่าเขาแล้ว
แต่เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นเสมอ
เป็นเพราะผู้คนมัวแต่เพ่งจ้องความไม่ดีของคนอื่น จนลืมตัว
ปล่อยให้ความโกรธครอบงำจนฆ่าเขา
เสร็จแล้วตัวเองก็ต้องติดคุกติดตะราง


การส่งจิตออกนอกเป็นตัวการแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ใจหรือการสร้างความทุกข์ให้แก่ชีวิตของตน
จึงประมาทไม่ได้เรื่องการส่งจิตออกนอก
ทำอย่างไรเราจะไม่เผลอส่งจิตออกนอก ก็ต้องมีสติ
สติช่วยพาจิตมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่เราทำ
ดึงจิตกลับมาดูตัวเอง หันมาเห็นความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท
รวมทั้งความอิจฉาริษยา ที่กำลังสะสมอยู่ในใจ
เมื่อเห็นแล้วการปล่อยวางก็จะเกิดขึ้นตามมา
ทำให้จิตโปร่งเบา ไม่ทุกข์ หลวงปู่ดูลย์จึงว่า จิตเห็นจิตคือมรรค


จิตเห็นจิตหมายความว่ารู้ทันอารมณ์ เห็นความเครียด
ความเกลียด ความโกรธที่มันเกิดขึ้น รู้แล้วก็วาง
พูดอีกอย่างคือยกจิตออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น
การปรุงแต่งก็เกิดขึ้นต่อไม่ได้ เหมือนไฟไม่มีเชื้อ มันก็มอดดับไปเอง
แค่รู้ทันหรือเห็นมัน ก็หลุดแล้ว แต่ถ้าอารมณ์นั้นรุนแรง
มันก็ดึงจิตกลับเข้าไปใหม่
บางคนสงสัยว่า รู้ทันความโกรธแล้วทำไมยังโกรธอยู่
ตอนที่รู้หรือเห็นความโกรธนั้น จิตหลุดออกไปจากความโกรธ
แต่เนื่องจากความโกรธมันมีพลังมาก มันจึงดูดจิตเข้าไปใหม่
เข้าไปครอบครองจิตใหม่ มันเหมือนกับรถที่กำลังแล่นเร็วๆ
เราแตะเบรกทีแรก มันไม่หยุดทันทีหรอก เพราะมันเร็วมาก
ต้องแตะเบรกหลายๆ ครั้ง การเห็นความโกรธก็เหมือนกัน
ไม่ใช่เห็นแล้วจะหยุดเลย ถ้าอารมณ์มันแรงมาก
พอมีสติเห็นมัน มันก็หยุดชั่วขณะ แต่แรงส่งยังมีอยู่ ก็เลยปรุงแต่งต่อ
ฉะนั้นก็ต้องมีสติเข้าไปเห็นถี่ๆ จนมันคลายลงไป
หรือไม่ก็ต้องอาศัยสติที่มีกำลังมาก
ถ้าสติมีกำลังมาก ก็หลุดจากอารมณ์นั้นได้ทันที


จิตเห็นจิตยังมีความหมายลึกกว่านั้น
คือเห็นจนรู้ว่าจิตนั้นไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
เห็นจนชัดเจนแจ่มแจ้งว่าจิตนั้นไม่สามารถยึดว่า เป็นเราเป็นของเราได้
และไม่สามารถคาดหวังให้มันเป็นอะไรได้เลย
แม้แต่จะหวังให้มันสุขก็หวังไม่ได้ พอเห็นอย่างนี้
นอกจากจะไม่ยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู หรือไม่มีตัวกูของกูอีกต่อไปแล้ว
ยังปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในจิตอย่างสิ้นเชิง
ผลก็คือ จิตเป็นอิสระ เกิดความสงบล้ำ เป็นสุขอย่างยิ่ง เรียกว่า นิพพาน
หลวงปู่ดูลย์จึงพูดว่า ผลของการที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง คือ นิโรธ


จิตเห็นจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมีสติเป็นเครื่องมือ
สตินั้นทำงานหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ดึงจิตที่เคยส่งออกนอก
หรือเกาะติดกับอายตนะภายนอก กลับมาอยู่กับตัว
รวมทั้งดึงจิตที่พลัดไปอยู่กับอดีต หรืออนาคต กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
สติยังทำหน้าที่กำกับผัสสะ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น
เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาขึ้นมา
ถ้าไม่มีสติเห็นเวทนา ก็จะปรุงต่อเป็นตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ยืดยาวเป็นสาย
แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามีสติ พอผัสสะเกิดขึ้น
เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาตามมาก็แล้วแต่
มันไม่ปรุงแต่งไปเป็นตัณหาอุปาทาน เพราะไม่มีตัวกูเป็นผู้เสวยเวทนานั้น
ถ้าไม่มีสติ ก็มีตัวกู เป็นผู้สุขผู้ทุกข์ เป็นเจ้าของเวทนา
ทีนี้มันไม่ใช่แค่สุขกาย ทุกข์กายเท่านั้น
แต่จะปรุงเป็นผู้สุข ผู้ทุกข์ เกิดสุขหรือทุกข์ขึ้นที่ใจ


อย่านึกว่าสติเป็นเรื่องเล็กน้อย สติเป็นตัวมรรคที่สำคัญ
ทำให้จิตเห็นจิตได้
พูดอย่างนี้มิใช่เราจะต้องปิดหูปิดตาไม่รับรู้สิ่งภายนอก ไม่ใช่
ถ้าทำอย่างนั้นก็ผิดทาง ถือว่านอกทางพุทธศาสนา
เคยมีพราหมณ์คนหนึ่งที่สอนวิธีฝึกจิตด้วยการไม่ให้ไปรับรู้
ทางตา ทางหู ทางจมูก พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ถ้าการทำเช่นนี้ทำให้คนพ้นทุกข์ได้
คนตาบอดหูหนวกก็พ้นทุกข์ไปนานแล้ว
ก็อย่างที่เรารู้กัน แม้ตาบอดหูหนวก จิตก็ยังส่งออกนอกได้ ใจก็ยังทุกข์ได้
การปิดกั้นหูตาไม่ให้รับรู้ จึงไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์


 คัดลอกจาก...ธรรมมาตา 
http://www.visalo.org/article/dhammamata01.htm

5,579







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย