หัดตนให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี : หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

 จำปาพร    15 มี.ค. 2558

ก่อนปฏิบัติธรรมะต้องมาศึกษาธรรมะ
การศึกษาธรรมะ อันดับแรกก็ศึกษาตามตำรา.."ชื่อของธรรม"
เมื่อรู้ "ชื่อของธรรม" แล้วก็มาหา "ตัวธรรม"
หมายถึงว่า "โอปนยิโก" น้อมเข้ามาหาตัวเอง
ว่าตัวเรามีอะไรบกพร่อง มีอะไรย่อหย่อนหละหลวม
มีอะไรผิดพลาดไปด้วย เรามาแก้ไขปัญหาเรา..
ส่วนที่บกพร่อง นั่นคือ "หาธรรม"
คือ..มาศึกษาหาความผิด ความถูกของตัวเอง

เราเคยพูดผิดมาอย่างนี้
มันมีเหตุที่ไม่ดีเป็นผลออกมาอย่างนี้
ทีหลังเราจะรู้ว่า การทำอย่างนี้พูดอย่างนี้..เราจะไม่ทำ
ไม่พูดอย่างนี้ให้เป็นโทษเป็นภัยแก่ตัวเองอีก
และไม่เป็นโทษเป็นภัยกับคนที่รับรู้ รับฟังจากเราอีก
นี่คือ ปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติตัวเอง แต่ละวันๆ ต้องเป็นอย่างนี้

ตื่นขึ้นมาต้องตั้งหลักเอาไว้ว่า
จำเป็นไหมเราต้องเจอคนในวันนี้..จำเป็นแน่ เจอแน่
ถ้าเจอคนเข้ามาแต่ละคนนั่นน่ะ
นิสัยของแต่คนที่เราพบนั้นเป็นยังไง
กับเรา..เข้ากันได้ไหม มีความเห็นตรงกันไหม
นี่พยายามยืดหยุ่น พยายามปรับปรุงตัวเอง
กับเพื่อนฝูงที่เรามีอยู่ เรียกว่า ปริสัญญู* ให้เข้ากันได้

หรือบางทีเราเป็นชาวพุทธแต่เพื่อนคนหนึ่ง
เป็นศาสนาคริสต์หรืออิสลาม อันนั้นเป็นลักขณะว่า
ความเชื่อถือของแต่ละฝ่ายแต่ละคนเป็นเรื่องส่วนตัว
แต่เรื่องของคนเราจริงๆ นั้นน่ะ..เป็นมิตรกันได้
ถึงว่าต่างศาสนาก็เป็นมิตรกันได้
เป็นเพื่อนกันได้ ช่วยเหลือกันได้
อันนั้นศาสนาเป็นตัวใครตัวมัน..เรื่องส่วนตัว
เรื่องส่วนรวม คือว่า เป็นเพื่อนกัน
อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน
ช่วยงานกัน..นี่ก็สามัคคี

นี่คือปฏิบัติธรรมเพื่อตนเองและปฏิบัติธรรมเพื่อคนอื่น
เหมือนกับว่า ทุกศาสนาถ้าทุกคนมีความยุติธรรมอยู่ในตัวแล้วนี่
ผลที่ออกมาจากกิริยา แนวความคิดเห็นก็ดี
การพูดมาก็ดีหรือการทำก็ดี มันจะเป็นความยุติธรรมต่อกัน
เพราะต่างคนต่างมีธรรมประจำตัว


*เป็นหนึ่งใน สัปปุริสธรรม ๗ ซึ่งประกอบด้วย
๑.) ธัมมัญญุตา - เป็นผู้รู้จักเหตุ
๒.) อัตถัญญุตา - เป็นผู้รู้จักผล
๓.) อัตตัญญุตา - เป็นผู้รู้จักตน
๔.) มัตตัญญุตา - เป็นผู้รู้จักประมาณ
๕.) กาลัญญุตา - เป็นผู้รู้จักกาล
๖.) ปริสัญญุตา - เป็นผู้รู้จักบริษัท
๗.) ปุคคลัญญุตา หรือปุคคลปโรปรัญญุตา - เป็นผู้รู้จักบุคคล

...

พระอาจารย์ทูล ขิปปปัญโญ
วัดป่าบ้านค้อ
ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี   



DT017019

จำปาพร

15 มี.ค. 2558
 เปิดอ่านหน้านี้  5338 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย