อริยกันตศีล : หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

 จำปาพร  

พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร

...

เอ้า..หลักที่ยึดมั่น ธรรมเป็นโลกบาลคุ้มครองโลกสองอย่าง
“ความละอายต่อบาป-ความกลัวต่อบาป”เท่านั้น
“หิริ” ความละอายต่อบาป..หิริ ความละอายต่อบาป
“โอตตัปปะ” ความสะดุ้งกลัวต่อบาป
ถ้าธรรมสองประการนี้มีอยู่ในหัวใจชาวโลกแล้วก็ปกครองกันอยู่
ถ้าไม่มีในหัวใจชาวโลกนี้แล้วก็ปกครองกันไม่อยู่ใช่ไหม

นั่น..นั่น..นั่น.. ถ้าไม่มีความละอายต่อบาป ไม่มีความกลัวต่อบาป
มันก็ไปล่วงละเมิดศีลห้าใช่ไหม นั่น..นั่น..นั่น...
เพียงศีลห้าเท่านั้นถ้าชาวโลกมี..กฏหมายก็ไม่ต้องตั้งมาก
ตั้งเพียงงบประมาณและภาษีอากรก็พอแล้วใช่ไหม
ทหารก็ไม่ต้องมี ตำรวจก็ไม่ต้องมี โซ่ตรวนก็ไม่ต้องมี
เรือนจำก็ไม่ต้องมี กุญแจก็ไม่ต้องมีใช่ไหม

เหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงยืนยันว่า
"ผู้มีศีลห้าบริบูรณ์"ไม่เสียดายล่วงละเมิดศีลห้า
ไม่เสียดายถือศาสดาอื่น ไม่เสียดายอยากจะถืออยู่ยงคงกระพัน
ไม่เสียดายอยากจะถือฤกษ์ดียามดี ผู้นั้นก็คือ “สุปฏิปันโน” เราดีๆนี่เอง
ใช่หรือไม่ท่านมหา ..ใช่ไหม..เออ..

นี่เอ้า..ประเทศของเรา ชาวโลกของเรามีมนุษย์เท่าใด
ก็ประมาณห้าพันล้านใช่ไหมท่านมหา คนห้าพันล้านนี้
มีศีลห้ากว่าล้านคนไหม คงจะ..จุดจุด..ไม่มีใช่ไหม
ประเทศจีนมีพลเมืองพันล้านคนหมดประเทศ
มีพอหนึ่งคนไหม "มีศีลห้าบริบูรณ์ไม่เสียดายล่วงละเมิดศีลห้า"

คำว่า ไม่เสียดายล่วงละเมิดศีลห้า
หมายความว่า “เห็นว่ามันเป็นเวรเป็นภัยจริงๆ!”
ดูเถอะ..ยุงตัวนี้มากัดกูนี่ ถ้ากูไม่รักษาศีล กูจะเอาให้มึงเรียบ
..อย่างนี้ไม่ใช่พระโสดาบันเน้อ ! เพราะ”เสียดาย”อยู่
เป็น “โคปาลศีล” ** ถูกไหม

"อะริยะกันตัง ปะสังสิตัง" คือ
"อริยกันตศีล" ของพระโสดาบันเป็นต้นไป
พรหมจรรย์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนา
ก็หมายเอาพระโสดาบันเป็นต้นไป
ต่ำกว่านั้นลงมาอย่าเอามาเอ่ยเลย


...


**-เพิ่มเติมคำว่า โคปาลศีล-

จาก “อุโปสถสูตร” เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐
บรรทัดที่ ๕๔๒๑ - ๕๖๖๖. หน้าที่ ๒๓๒ - ๒๔๒.
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร)

----

ดูกรนางวิสาขาก็ "โคปาลกอุโบสถ" เป็นอย่างไร
ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนนายโคบาล
เวลาเย็นมอบฝูงโคให้แก่เจ้าของแล้ว พิจารณาดังนี้ว่า
วันนี้โคเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ ดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ
พรุ่งนี้โคจักเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ จักดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ

แม้ฉันใด ดูกรนางวิสาขา ฉันนั้นเหมือนกัน
คนรักษาอุโบสถบางคนในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า
วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ กินของชนิดนี้ๆ
พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ จักกินของกินชนิดนี้ๆ
เขามีใจประกอบด้วยความโลภอยากได้ของเขา
ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น

ดูกรนางวิสาขา "โคปาลกอุโบสถ" เป็นเช่นนี้แล
ดูกรนางวิสาขา โคปาลกอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล
ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "ภูมิธรรมโสดาบัน"

5,564







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย