ดาบสขี้โกง (กุหกชาดก)

๏ ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้มักหลอกลวงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี มีชฎิลโกงผู้หนึ่งเป็นดาบสหลอกลวง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ภายใต้การอุปถัมภ์ของพ่อค้าคนหนึ่ง เขาสร้างศาลาให้ดาบสและปรนนิบัติด้วยอาหารอันประณีต ด้วยเชื่อว่าดาบสเป็นผู้ทรงศีล จึงนำทองคำร้อยแท่งไปฝังไว้ใกล้ๆ ศาลาของดาบสนั้น เพื่อให้ดาบสช่วยดูแลรักษา ดาบสพูดให้เขาเกิดความสบายใจว่า
" ขึ้นชื่อว่าความโลภในสิ่งของผู้อื่น บรรพชิตไม่มีเลย "

เวลาผ่านไปสองสามวัน ดาบสได้นำทองคำไปฝังไว้เสียที่แห่งอื่น แล้วย้อนกลับมา ในวันรุ่งขึ้นฉันอาหารในบ้านของพ่อค้าแล้วกล่าวอำลาว่า
" อาตมาอาศัยท่านอยู่นานแล้ว ความพัวพันกับกับพวกมนุษย์ย่อมมี ธรรมดาการพัวพันเป็นมลทินของบรรพชิต เพราะฉะนั้น อาตมาจะขอลาไป "

แม้พ่อค้าจะอ้อนวอนอย่างไร ก็จะไม่อยู่ท่าเดียว เมื่อพ่อค้าบอกว่า
" ไปเถิดพระคุณเจ้า "

ตามไปส่งจนถึงประตูบ้านแล้วกลับเข้าบ้านไป

ดาบสนั้น เดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็เดินกลับมา พร้อมกับยื่นหญ้าเส้นหนึ่งให้แก่พ่อค้าพร้อมกล่าวว่า
" มันติดชฎาของอาตมาไป จากชายคาเรือนของท่าน ขึ้นชื่อว่า อทินนาทานไม่สมควรแก่บรรพชิต "

พ่อค้ายิ่งเลื่อมใสเข้าใจว่า
" ดาบสนี้ไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่น แม้เพียงเส้นหญ้า โอ! พระคุณเจ้าช่างเคร่งคัดจริง ๆ "

ก็พอดีมีชายบัณฑิตคนหนึ่งไปชนบทเพื่อต้องการสิ่งของ ได้พักแรมอยู่ในบ้านพ่อค้านั้นด้วย เห็นเหตุการณ์นั้นแล้วฉุกคิดว่า
" ต้องมีอะไรสักอย่างแน่ ๆ ที่ดาบสนี้ถือไป "

จึงถามพ่อค้าว่า
" ท่านได้ฝากอะไรไว้กับดาบสไหม ? "

พ่อค้าจึงเล่าเรื่องฝากให้ดาบสดูแลหลุมฝังทองคำ ๑๐๐ แท่ง เขาจึงบอกให้พ่อค้ารีบไปตรวจเช็คดูว่าหายหรือไม่ เมื่อพ่อค้าไปตรวจดูแล้วปรากฏว่าไม่เห็นทองคำ จึงรีบกลับมาบอกชายบัณฑิตนั้น แล้วพากันรีบติดตามดาบสจับมาทุบบ้าง เตะบ้าง ให้นำทองคำมาคืน เมื่อพบทองคำแล้ว ชายผู้เป็นบัณฑิตจึงพูดว่า
" ดาบสนี้ขโมยทองคำ ๑๐๐ แท่ง ยังไม่ข้องใจ กลับมาข้องใจในเรื่องเพียงเส้นหญ้า "

แล้วกล่าวคาถาว่า
" ถ้อยคำของท่านช่างไพเราะอ่อนหวานเสียนี่กระไร ท่านรังเกียจกระทั่งหญ้าเส้นเดียว
แต่เมื่อขโมยทองคำไปตั้ง ๑๐๐ แท่ง กลับไม่รังเกียจเลยนะ "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน
    ๛

: หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

 7,901 
DT0005 DhammathaiTeam

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย