หงส์ทองคำ (สุวัณณหังสชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีชื่อ ถุลนันทา ผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคกระเทียม สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง มีภรรยาและลูกสาว ๓ คน ชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา พอลูกสาวทั้ง ๓ ได้สามีแล้วทุกคน พราหมณ์ก็เสียชีวิตไปเกิดเป็นหงส์ทองคำระลึกชาติได้
วันหนึ่งได้เห็นความลำบากของนางพราหมณีและลูกสาวของตนที่ต้องรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพ จึงเกิดความสงสาร ได้โผบินไปจับที่บ้านนางพราหมณีแล้วเล่าเรื่องราวให้นางพราหมณีและลูกสาวฟัง และได้สลัดขนให้แก่พวกเขาเหล่านั้นคนละหนึ่งขนแล้วก็บินหนีไป หงส์ทองได้มาเป็นระยะๆ มาครั้งใดก็สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขนโดยทำนองนี้ นางพราหมณีและลูกสาวจึงร่ำรวยและมีความสุขไปตามๆ กัน
ต่อมาวันหนึ่งนางพราหมณีเกิดความโลภอยากได้มากกว่าเดิมจึงปรึกษากับลูกๆ ว่า
"ถ้าหงส์มาครั้งนี้ พวกเราจะจับถอนขนเสียให้หมด เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติมาก"
พวกลูกๆ ไม่เห็นดีด้วย แต่นางพราหมณีไม่สนใจ
ครั้งวันหนึ่งพญาหงส์ทองมาอีก นางก็ได้จับถอนขนเสียให้หมด ขนเหล่านั้นกลายเป็นขนนกธรรมดาเท่านั้น เพราะพญาหงส์ทองมิได้ให้ด้วยความสมัครใจ
นางพราหมณีได้เลี้ยงหงส์นั้นจนขนงอกขึ้นมาใหม่เต็มตัว หงส์ก็ได้บินหนีไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย
พระพุทธองค์ เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า
"บุคคลได้สิ่งใดควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณเป็นความชั่วแท้ นางพราหมณีจับเอาพญาหงส์ทองแล้วจึงเสื่อมจากทองคำ"
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : โลภมาก มักลาภหาย
ที่มา : หนังสือ ชาดกและประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม