|
|
พระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน
พระบาทขวาก้าวเหยียบพื้น ยกซ้นพระบาทซ้ายขึ้น ปลายพระบาทจรดพื้น
พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่ที่หน้าพระเพลา ( ตัก ) ทอดพระเนตรลงต่ำ
ความเป็นมาของปางจงกรมแก้ว
|
สัปดาห์ที่
๓ หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้วขึ้น
ณ กึ่งกลางระหว่าง อนิมิสเจดีย์ กับ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วเสด็จจงกรม
ณ ที่นั้นเป็นเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นได้นามว่า "รัตนจงกรมเจดีย์" |
|
|
พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิในเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา
( ตัก ) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ ( เข่า ) บางแบบพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา
บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถขัดสมาธิเพชรในเรือนแก้ว
ความเป็นมาของปางเรือนแก้ว
|
ในสัปดาห์ที่
๔ จากวันตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง)
ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์
ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "รัตนฆรเจดีย์"
ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่าในสัปดาห์ที่ ๑ - ๓ พระฉัพพรรณรังสี
( รัศมี ๖ ประการ ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่
๔ เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วแล้ว
พระฉัพพรรณรังสีจึงมีโอภาสออกมาจากพระวรกาย |
|
|
พระพุทธรูปปางห้ามมาร
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย อยู่บนพระเพลา
( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ( อก ) แสดงอาการห้าม
หลังจากทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประทับใต้ต้นไทร ธิดาทั้ง ๓ ของพญามาร
คือ นางราคา นางตัณหา นางอรดี ได้อาสาผู้เป็นบิดาไปทำลายตบะเดชะของพระพุทธองค์
ด้วยการเนรมิตร่างเป็นสตรีที่สวยงามในวัยต่าง ๆ ตลอดจนแสดงอิตถีายาโดยการฟ้อนรำขับร้อง
แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ธิดาทั้ง ๓
ของพญามารให้หลีกไป |
|
|
พระพุทธรูปปางนาคปรก
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา
( ตัก ) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้าย เหมือนปางสมาธิ
แต่มีพญานาค ขดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จออกจากใต้ร่มไทร เสด็จประทับที่ใต้ต้นมุจลินท์ ( ต้นจิก
) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่ตลอดเวลา
๗ วันไม่ขาดสาย พญานาคราชชื่อมุจลินท์ ราชาแห่งนาคพิภพได้ขึ้นมาจากบาดาล
ขนดกายเป็นพุทธบัลลังก์ แล้วแผ่พังพานเหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระพุทธองค์
ปกป้องมิให้ลมฝน ยุง เหลือบ ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานมาต้องพระวรกาย
เมื่อฝนหยุด พญานาคราชจึงจำแลงกายเป็นชายหนุ่มมาถวายนมัสการต่อพระพุทธองค์ |
|
|
พระพุทธรูปปางฉันผลสมอ
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก
) พระหัตถ์ขวาถือผลสมอ หงายพระหัตถ์วางที่พระชานุ ( เข่า
)
ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากร่มไม้จิกแล้ว
ก็เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้เกด ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์
เป็นเวลา ๗ วัน แล้วจึงทรงออกจากสมาธิ ท้าวสักเทวราชทรงทราบว่านับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา
๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน มิได้เสวยภัตตาหารเลย จึงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถจากเทวโลกมาน้อมถวาย
พระพุทธองค์จึงทรงเสวยผลสมอทิพย์นั้น แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ด้วยน้ำที่ท้าวสักกเทวราชถวาย
จากนั้นเสด็จประทับ ณ ร่มไม้เกดตามเดิม |
ข้อมูล/ภาพ
: หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ
ใจภักดี |
|