|
|
พระพุทธรูปปางประสานบาตร
วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิ มีบาตรวางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร
คว่ำพระหัตถ์ขวายกขึ้นปิดปากบาตร
ความเป็นมาของปางประสานบาตร
|
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ
ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ
ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน
เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่
ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง
พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป
ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ
พระองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง ๔ ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง |
|
|
๒๒.ปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง
|
พระพุทธรูปปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ
(นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา
(ตัก) ทอดพระเนตรลงต่ำ เป็นกิริยาทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงด้วยบาตร
ความเป็นมาของปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง
|
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงที่พ่อค้าสองพี่น้องถวายด้วยความเลื่อมใส
เมื่อทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว พ่อค้าทั้งสองทูลขอถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่งนับถือสูงสุดในชีวิต
เพราะขณะนั้น ยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้น ถือเป็นเทววาจิกอุบาสก
นับเป็นอุบาสกคู่แรกในโลก |
|
|
พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ
(นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นแนบพระเศียร
เป็นกิริยาเสยพระเกศา
ความเป็นมาของปางพระเกศธาตุ
|
หลังจากที่ตปุสสะและภัทลิกะได้ขอถึงพระพุทธและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิต
ถือเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอภิวาทต่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บูชา
พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียรเกล้าด้วยพระหัตถ์ขวา มีพระเกศา
๘ เส้น อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ จึงโปรดประทานพระเกศาทั้ง ๘ เส้นนั้นแก่พ่อค้าทั้งสอง
เมื่อกราบบังคมลาไปสู่บ้านเมืองของตนแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่มหาชนทั่วไป |
|
|
พระพุทธรูปปางรำพึง
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน
พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ ( อก ) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บุคคลในโลกนี้เปรียบเสมือนบัว
๔ เหล่า ดังนี้ คือ ( ๑ ) อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี
เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้รวดเร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ
เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที ( ๒ ) วิปจิตัญญู คือ
พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า
เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป ( ๓ ) เนยยะ
คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและ ฝึกฝนอยู่เสมอ
มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้
เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานในวันหนึ่ง ( ๔
) ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ
เปรียบเสมือนบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ
ก็ทรงอธิษฐานว่าจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้อยู่ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า์ |
|
|
๒๕.ปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร
|
พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิ บางแห่งสร้างเป็นพระอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท
พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวงกลม เป็นเครื่องหมายธรรมจักร
พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ซ้ายประคองพระหัตถ์ขวา
หรือพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นถือชายจีวร
ความเป็นมาของปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร
|
ในวันขึ้น
๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหปุณมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
อันเป็นปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ มีใจความสำคัญดังนี้ คือ
ทรงให้งดเว้นทางสุดโต่ง ๒ สาย คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ได้แก่
การประกอบตนให้หมกมุ่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค คือ ทำตนเองให้ลำบาก
ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ได้แก่ มรรคมีองค์
๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ และอริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ
ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โกณฑัญญพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมในวันนั้น |
ข้อมูล/ภาพ
: หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ
ใจภักดี |
|