|
|
พระพุทธรูปปางชี้มาร
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน
พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระพักตร์
ชี้นิ้วไปข้างหน้า
พระโคถิกเถระ
ปฏิบัติธรรมจนสำเร็จอรหันต์ผล เป็นพระอรหันต์ มารคิดว่าวิญญาณของท่านเพิ่งออกจากร่าง
จึงแฝงกายเข้าไปในก้อนเมฆ เที่ยวตามหาวิญญาณของท่าน แต่ไม่พบ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ชี้มารให้ภิกษุทั้งหลายดูและตรัสบอกภิกษุว่า
"มารผู้มีใจบาปกำลังแสวงหาวิญญาณพระโคธิกะอยู่ แต่ไม่มีวิญญาณของพระเถระในที่นั้น
ด้วยเธอได้นิพพานไปแล้ว" เมื่อมารค้นหาวิญญาณของพระโคธิกเถระไม่พบ
จึงแปลงเพศเป็นมาณพน้อยเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ มารทูลถามว่า
พระโคธิกะอยู่ที่ใด เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระโคธิกะนิพพานแล้ว
มารตกตะลึงด้วยคาดไม่ถึง อันตรธานหายวับไปทันที พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ผู้มีศีลบริสุทธิ์ อยู่ด้วยความไม่ประมาทย่อมถึงวิมุตติ
เพราะฌานหยั่งรู้ชอบแล้ว มารจะไม่ประสบพบทางชองท่านได้เลย" |
|
|
พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
(นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้างตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า
ความเป็นมาของปางปฐมบัญญัติ
|
ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นครเวสาลี
สุทินกลันทบุตร ได้ฟังพระธรรมเทศนา บังเกิดความเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท
แต่บิดามารดาอยากให้สึกมาดูแลสมบัติของตระกูล พระสุทินยังยินดีในพรหมจรรย์
บิดาจึงขอทายาทเพราะหากไม่มีผู้สืบสกุล ทรัพย์สินจะถูกยึดตามธรรมเนียม
พระสุทินจึงได้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าตามคำขอร้องและได้บุตรชายคนหนึ่ง
ต่อมาท่านรู้สึกไม่สบายใจจึงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ความทราบถึงพระพุทธองค์
ทรงติเตียนพระสุทิน ที่ทำกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งแก่สมณะ
จึงบัญญัติสิกขาบทว่า "ภิกษุเสพเมถุนต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที"
นับเป็นปฐมบัญญัติ คือ ข้อแรกในพระวินัยของพระภิกษุ การประพฤติของพระสุทินสมัยนั้นถือว่ายังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ
พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาผิด เพราะยังมิได้มีสิกขาบทห้ามไว้
แต่ถ้าภิกษุใดทำเช่นนี้อีก ถือว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที
|
|
|
พระพุทธรูปปางขับพระวักกลิ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาตะแคงอยู่บริเวณพระนาภี
( สะดือ ) บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) แสดงกิริยาทรงโบกพระหัตถ์ขับไล่ให้ออกไป
ความเป็นมาของปางขับพระวักกลิ
|
กุลบุตรจากตระกูลพราหมณ์นามวักกลิ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกิดเลื่อมใสในพุทธจริยวัตรและพึงพอใจในพระสรีระของพระองค์
จึงออกบวชเพราะต้องการจะชมพระบารมีของพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด
และสามารถติดตามพระพุทธองค์ไปทุกแห่ง เมื่อบวชก็ไม่ได้ใส่ใจปฏิบัติและศึกษาพระธรรมวินัย
พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทว่า "ดูก่อนพระวักกลิ เธอมัวติดตามดูร่างกายอันต้องเปลือยเน่านี้ด้วยเหตุอันใด
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม"
แต่พระวักกลิยังคงปฏิบัติเช่นเดิม ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงขับไล่พระวักกลิ
ทำให้พระวักกลิน้อยใจจนคิดฆ่าตัวตาย พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณจึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้พระรูปของพระองค์ไปปรากฎอยู่เฉพาะหน้าของพระวักกลิ
และตรัสเทศนาธรรมโปรด พระวักกลิปลื้มปีติอย่างยิ่ง และพิจารณาธรรมไปตามลำดับจนได้บรรลุอรหันผล
พระวักกลิได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศในด้านศรัทธาวิมุตติ
คือเป็นผู้พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา |
|
|
พระพุทธรูปปางสนเข็ม วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม
พระพุทธรุปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ
( อก ) พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในพระอิริยาบถจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้าย
เป็นกิริยาสนเข็ม
ครั้งหนึ่งพระจีวรของพระอนุรุทธเถระเก่ามาก
ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุลเพื่อมาทำจีวร พระเถระพบผ้า ๓ ผืนที่กองหยากเยื่อจึงเก็บมา
ในสมัยโบราณการทำจีวรต้องตัดเย็บและย้อมเอง พระสงฆ์ทั้งหลายจึงมาช่วยกันอย่างพร้อมเพรียงแบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช่วยร้อยด้ายเข้าในบ่วงเข็ม ( สนเข็ม
) เมื่อพระรูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์ก็ทรงสนเข็มประทาน
จนการเย็บจีวรสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี |
|
|
พระพุทธรูปปางประทานพร
( นั่ง ) วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก )
แบฝ่าพระหัตถ์ขวายื่นออกไปวางที่พระชานุ ( เข่า )
ความเป็นมาของปางประทานพร
( นั่ง )
|
เมื่อครั้งพระอานนท์ถูกสงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐาก
ท่านได้ขอพร ๘ ประการ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร ๔ ข้อแรก
ได้แก่ ไม่ประทานจีวรอันประณีตแก่ท่าน ไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้มาแก่ท่าน
ไม่ประทานให้ท่านอยู่คันธกุฏิเดียวกับพระพุทธองค์ และไม่ทรงพาท่านไปในที่นิมนต์
ส่วน ๔ ข้อหลังได้แก่ ขอให้พระพุทธองค์ไปในที่นิมนต์ที่ท่านรับไว้
ถ้าท่านนำพุทธบริษัทมาจากแดนไกลขอให้ได้เข้าเฝ้าทันที ถ้าท่านมีความสงสัยขอให้ถามท่านได้ทันที
และข้อสุดท้ายคือ ถ้าพระพุทธองค์ทรงไปแสดงพระธรรมที่ไหน
ถ้าท่านไม่ได้ฟัง ขอให้แสดงแก่ท่านอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันคำครหาว่าท่านอุปัฏฐากแล้วไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากพระพุทธองค์เลยพระพุทธองค์ได้ประทานพรทั้ง
๘ ประการ แก่พระอานนท์ |
ข้อมูล/ภาพ
: หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ
ใจภักดี |
|