ค้นหาในเว็บไซต์ :

หมวดกุศลพิธี


ความหมาย

     เรื่องกุศลพิธี เป็นเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวด้วยการอบรม ความดีงามทางพระพุทธ ศาสนาเฉพาะตัวบุคคล คือ เรื่องสร้างความดีแก่ตนทางพระพุทธศาสนา ตามพิธีนั่นเอง ซึ่งพิธี ทำนองนี้มีมากด้วยกัน เมื่อจัดเข้าเป็นหมวดเดียวกัน จึงให้ชื่อหมวดว่า “หมวดกุศลพิธี” ฉะนั้น หมวดกุศลพิธีที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะนำกุศลพิธีเฉพาะที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติในเบื้องต้น อย่างสามัญ มาชี้แจงเพียง ๓ เรื่อง คือ

       ก. พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

       ข. พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา , วันวิสาขบูชา , วันอาสาฬหบูชา , วันอัฐมีบูชา

       ค. พิธีรักษาอุโบสถศีล



ก. พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

     การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาศตนของผู้แสดงว่า เป็นผู้รับนับถือ พระพุทธเจ้าเป็นของตน เป็นการแสดงตนให้ปรากฏว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิต ของตนนั้นเอง สมเด็จพระมหาสมอย่างสูง ให้ปรากฏเช่นในบัดนี้ กราบด้วย เบญจางคประดิษฐ์ ท่านว่าใช้ได้ ทำข้อหลัง ดูเหมือน เพียงได้ความรับรองว่าเป็นผู้นับถือ”

     “การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระศาสนา ไม่จำทำเฉพาะคราวเดียว ทำซ้ำ ๆ ตามกำลัง แห่งศรัทธาและเลื่อมใสก็ได้ เช่น พระสาวกบางรูป ภายหลังแต่ได้รับอุปสมบท ลั่นวาจาว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ๆ เป็นสาวก” ดังนี้ก็มี อุบาสกประกาศตน หนหนึ่งแล้ว ประกาศซ้ำอีกก็มี”

     “เมื่อการถือพระศาสนาไม่เป็นเพียงเฉพาะตัว ถือกันทั่วทั้งสกุลและสืบชั้นลงมา มารดา บิดายอมนำบุตรธิดาของตนให้เข้าถึงพระศาสนาที่ตนนับถือตั้งแต่ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสา มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาว่า นิมนต์พระสำหรับสกุลไปแล้ว ขอให้ขนาน ชื่อและให้สิกขาบทแก่เด็ก ขอให้ขนานชื่อไม่เคอะ ขอให้สิกขาบทเคอะอยู่ หรือให้พอเป็นพิธีเท่านั้น ธรรมเนียมเมือง เราเจ้านายประสูติใหม่ นำเข้าเมื่อสมโภชเดือน เชิญเสด็จ ออกมาหาพระสงฆ์ถ้าเป็นพระกุมาร พระสังฆเถระผู้พระหัตถ์ด้วยด้ายสายสิญจน์ ถ้าเป็นพระกุมารี พาดสายสิญจน์ไว้มุมเบาะข้างบน แล้วพระสงฆ์สวดอำนวยพระพรด้วยบาลีว่า โส อตฺถลทฺโธ.... หรือ สา อตฺถลทฺธา..... โดยควรแก่ภาวะบุตรธิดา ของสกุลที่ไม่ได้ ทำขวัญเดือน ดูเหมือน นำมาขอให้พระผูกมือให้เท่านั้น ความรู้สึกก็ไม่เป็นไปทางเข้าพระศาสนา เป็นไปเพียงทางรับ มงคลเนื่องด้วยพระศาสนา”

     “นำเข้าพระศาสนาแต่ยังเล็ก เด็กไม่รู้สึกด้วยตนเอง เมื่อโตขึ้นที่เป็นชายจึงนำเข้า บรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นภิกษุ ที่เจ้าตัวได้ปฏิญาณและได้ความรู้สึก การนำและ สำแดงซ้ำ อย่างนี้เป็นทัฬหีกรรม คือ ทำให้มั่น เช่นเดียวกับอุปสมบทซ้ำ”

     “เมื่อความนิยมในการบวขเณรจืดจางลง พร้อมกันเข้ากับการส่งเด็กออกไปเรียนในยุโรป ก่อนแต่มีอายุสมควรบวชเณร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปริวิตก ว่าเด็ก ๆ จักหาได้ความรู้สึกในทางพระศาสนาไม่ จึงโปรดให้พระราชโอรส ผู้มิได้เคยทรงผนวช เป็นสามเณรทรงปฏิญาณพระองค์ เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อนเสด็จออกไปศึกษายุโรป ครั้งนั้นใช้คำสำแดงเป็นอุบาสกตามแบบบาลี พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นพระองค์แรกปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น และใช้เป็นราชประเพณี ต่อมาได้ทราบว่า ผู้อื่นจากพระราชวงศ์ เห็นชอบตามพระราชดำริ ทำตามบ้างก็มี”

     “ธรรมเนียมนี้แม้ได้ใช้นานมาแล้วยังไม่ได้เรียบเรียงไว้เป็นแบบแผน คราวนี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าจะส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมพฏพงศ์บริพัตร พระโอรสสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ วรพินิตกับหม่อมเจ้าอื่น ๆ ออกไปศึกษาในยุโรป สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต มีพระประสงค์จะให้พระโอรสได้ปฏิญาณพระองค์ในพระพุทธศาสนาตามธรรมเนียม ที่พระองค์ ได้เคยทรงมา พระบิดาและพระญาติของ หม่อมเจ้าอื่นก็ทรงดำริร่วมกัน เป็นอันว่า ธรรมเนียมนี้ ยังจักใช้อยู่ต่อไป ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงตั้งเป็นแบบไว้ทีเดียว สำหรับใช้ทั่วไป ไม่เฉพาะเจ้านาย ได้แก้บท “อุบาสก” เฉพาะผู้ใหญ่ผู้ได้ศรัทธาเลื่อมใสด้วยตนเองเป็น “พุทธมามกะ” ที่แปลว่า ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน”

     โดยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นสืบต่อกันมา แต่ใน ปัจจุบันความนิยมของชาวพุทธในประเทศไทยมีสรุปได้ว่า

     ๑. เมื่อมีบุตรหลานของตนมีอายุพ้นเขตเป็นทารก เจริญวัยอยู่ในระหว่างอายุ ๑๒ ถึง ๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธ ตามตระกูลวงศ์ต่อไป หรือ

     ๒. เมื่อจะส่งบุตรหลานของตนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว ให้ไปอยู่ในถิ่นที่ไม่ใช่ดินแดน ของพระพุทธศาสนา เพื่อการศึกษาหรือเพื่อประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม เป็นการที่ต้องจากถิ่นไป นานแรมปี ก็นิยมประกอบพิธีให้บุตรหลานของตนที่จะจากไปนั้น แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กได้รำลึกอยู่เสมอว่าตนเป็นพุทธศาสนิกชน หรือ

     ๓. เมื่อจะปลูกฝังนิสัยเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา ส่วนมากทางโรงเรียนที่สอน วิชาทั้งสามัญและอาชีวศึกษาแก่เด็ก ซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มชาวพุทธ นิยมประกอบพิธีให้นักเรียน ที่เข้าศึกษาใหม่ในรอบปี ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะหมู่ คือ แสดงรวมกันเป็นหมู่ ทำปีละ ครั้งในวันที่สะดวกที่สุด เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญ ในการที่ตนเป็นชาวพุทธร่วมอยู่กับ ชาวพุทธทั้งหลายและ

     ๔. เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต้องการจะประกาศตน เป็นชาวพุทธ ก็ประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อประกาศว่า นับแต่นี้ไปตนยอมรับนับถือ พระพุทธศาสนาแล้ว


การแสดงตนเป็นพุทธมามกะตามธรรมเนียมในปัจจุบัน มีระเบียบปฏิบัติที่นิยมกัน ดังต่อไปนี้

ระเบียบพิธี

     ๑. มอบตัว ผู้ประสงค์จะประกอบพิธี ต้องไปมอบตัวกับพระอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ และมุ่งหมายจะให้เป็นประธานสงฆ์ในพิธีด้วยก่อน ถ้าเป็นเด็กต้องมีผู้ปกครองนำไป แต่ถ้าเป็น พิธีแสดงหมู่ เช่น นักเรียน ให้ครูใหญ่หรือผู้แทนโรงเรียน เป็นผู้นำแต่เพียงบัญชีรายชื่อของ นักเรียนที่จะเข้าพิธีไปเท่านั้นก็พอ ไม่ต้องนำนักเรียน ทั้งหมดไปก็ได้ การมอบตัวควรมีดอกไม้ ธูปเทียนใส่พานไปถวาย พระอาจารย์ตาม ธรรมเนียมโบราณด้วย พึงปฏิบัติดังนี้

       ก. เข้าไปหาพระอาจารย์ ทำความเคารพพร้อมกับผู้นำ (ถ้ามีผู้นำ)

       ข. แจ้งความประสงค์ให้พระอาจารย์ทราบ เมื่อพระอาจารย์รับแล้ว จึง มอบตัว

       ค. การมอบตัว ให้ผู้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะถือพานดอกไม้ธูปเทียน ที่เตรียม ไปนั้น เข้าไปใกล้ ๆ พระอาจารย์ คุกเข่าลงกับพื้น กะว่าเข่าของตนห่างจากตัว พระอาจารย์ ประมาณศอกเศษ แล้วยกพานนั้นน้อมตัวประเคน เมื่อพระอาจารย์รับพาน แล้ว เขยิบกายถอย หลังทั้ง ๆ อยู่ในท่าคุกเข่านั้น ห่างออกมาเล็กน้อย แล้วประนมมือก้มลงกราบ ด้วยเบญจางค ประดิษฐ์ ตรงหน้าพระอาจารย์ ๓ ครั้ง ถ้าเป็นตัวแทนมอบตัวหมู่ ให้ผู้แทน ปฏิบัติเช่นเดียวกัน พร้อมกับถวายบัญชีรายชื่อผู้ที่จะประกอบพิธี

       ฆ. กราบเสร็จแล้วนั่งราบในท่าพับเพียบลงตรงนั้นเพื่อฟังข้อแนะนำ และ นัดหมายของพระอาจารย์จนเป็นที่เข้าใจเรียบร้อย

       ง. เมื่อตกลงกำหนดการกันเรียบร้อยแล้ว ขอเผดียงสงฆ์ต่อพระอาจารย์ ตาม จำนวนที่ต้องการ ไม่น้อยกว่า ๓ รูป รวมเป็น ๔ ทั้งพระอาจารย์

     เมื่อเสร็จธุระนี้แล้ว ให้กราบลาพระอาจารย์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์อีก ๓ ครั้ง

     ๒. เตรียมการ ในการประกอบพิธีนี้ต้องมีเตรียมการให้พร้อมทั้ง ฝ่ายสงฆ์และ ฝ่ายผู้แสดงตน คือ

       ก. ฝ่ายสงฆ์ พระอาจารย์ผู้เป็นประธานสงฆ์ที่ได้รับมอบตัว ผู้จะแสดงตน เป็นพุทธมามกะแล้ว ต้องเป็นผู้จัดเตรียมบริเวณพิธีภายในวัดไว้ให้พร้อมก่อนกำหนดนัด เพราะพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะนี้ ประกอบขึ้นในวัดเป็นเหมาะที่สุด ถ้าไม่จำเป็นแล้ว ไม่ควรทำในที่อื่น บริเวณพิธีในวัดควรจัดในพระอุโบสถได้เป็นดี เพราะเป็นสถานที่สำคัญ อันเป็นหลักของวัด แต่ถ้าในพระอุโบสถไม่สะดวกด้วยประการใด ๆ ควรจัดในวิหาร หรือ ศาลาการเปรียญ หอประชุมแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ไม่ควรจัดให้มีในที่กลางแจ้ง ควรตั้งโต๊ะบูชา มีพระพุทธรูปเป็นประธาน ในบริเวณพิธีนั้น ๆ จัดให้สะอาดเรียบร้อยตามธรรมเนียม และให้เด่น อยู่กึ่งกลาง ถัดหน้าโต๊ะบูชาออกมาตรงหน้าพระประธาน ตั้งหรือปูอาสนะสงฆ์ หันหน้าออก ตามพระประธานนั้น อาสนะพระอาจารย์อยู่ข้างหน้าเดี่ยวเฉพาะองค์เดียว อาสนะ พระสงฆ์อยู่ ข้างหลังพระอาจารย์ เรียงแถวหน้ากระดาน ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่ ควรเตรียมที่ปักธูปเทียน และที่วางดอกไม้บูชาพระสำหรับผู้แสดงตนไว้ข้างหน้าให้พร้อม ถ้าสถานที่ไม่อำนวยให้จัดเช่นนี้ ได้ก็จัดอาสนะพระอาจารย์และพระสงฆ์ให้อยู่ทางซีกขวา ของพระประธานเป็นด้านข้าง ให้หันหน้า ไปทางซีกซ้ายของพระประธาน วิธีจัดก็ให้อาสนะพระอาจารย์อยู่หน้าอาสนะสงฆ์ เรียงแถวอยู่หลัง พระอาจารย์ เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว ที่จัด ดังนี้ก็เพื่อให้ผู้แสดงตน เข้าแสดงตนต่อสงฆ์โดยหันหน้า ตรงพระอาจารย์แล้วได้หันมือขวา เข้าหาพระประธาน นับเป็นการแสดงความเคารพอีกประการ หนึ่งด้วย

       ข. ฝ่ายผู้แสดงตน ต้องตระเตรียมผ้าขาวสำหรับนุ่งผืนหนึ่ง ชายควรนุ่ง โจงกระเบน หญิงควรนุ่งจีบแบบผ้าถุง หรือจะตัดเย็บเป็นกระโปรง ก็ได้แล้วแต่เหมาะสม และต้องมีผ้าขาวสำหรับห่มสะไบเฉียงอีกหนึ่งผืน ใช้เหมือนกัน ทั้งชายและหญิง นอกจาก นี้มีเสื้อขาวแบบสุภาพสวมก่อนสะไบเฉียงทั้งชายและหญิง รองเท้าและถุงเท้าไม่ต้องใช้พิธี ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่ เช่น นักเรียนหรือข้าราชการ เป็นต้น จะไม่นุ่งขาวห่มขาวตามแบบ ก็ให้แต่งเครื่องแบบของตนให้เรียบร้อยทุกประการ เว้นแต่รองเท้าต้องถอดในเวลาเข้าพิธี อีก ประการหนึ่ง ต้องเตรียมเครื่องสักการะสำหรับถวายพระอาจารย์ในพิธีเฉพาะตน ๆ ด้วย คือ ดอกไม้ ธูปเทียนใส่พาน ๑ ที่ กับดอกไม้ธูปเทียนสำหรับจุดบูชาพระในพิธี ๑ ที่ นอกนั้น จะมี ไทยธรรมถวายพระสงฆ์ในพิธีด้วย ก็แล้วแต่ศรัทธา

     ๓. พิธีการ เมื่อเตรียมการพร้อมทุกฝ่ายดังกล่าวแล้ว ถึงวันนัดประกอบพิธีโดย

       ก. ให้ผู้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นุ่งขาว ห่มขาว หรือแต่งเครื่องแบบ ของตนเรียบร้อยแล้วไปยังบริเวณพิธีก่อนกำหนด นั่งรอเวลาในที่ที่ทางวัดจัดไว้

       ข. ถึงเวลากำหนด พระอาจารย์และพระสงฆ์เข้าสู่บริเวณพิธี กราบพระ พุทธรูปประธานแล้ว เข้านั่งประจำอาสนะ

       ค. ให้ผู้แสดงตนเข้าไปคุกเข่าหน้าโต๊ะบูชา จุดธูปเทียนและวางดอกไม้บูชา พระส่งใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เปล่งวาจาว่า

อิมินา สกฺกาเรน, พุทฺธํ ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้

(กราบ)

อิมินา สกฺกาเรน, ธมฺมํ ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้

(กราบ)

อิมินา สกฺกาเรน สงฺฆํ ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้

(กราบ)


     ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่ ให้หัวหน้าเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาคนเดียว นอกนั้นวางดอกไม้ ธูปเทียนยังที่ที่จัดไว้ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือ หัวหน้านำกล่าวคำบูชา ให้ว่าพร้อมๆ กัน การกราบ ต้องก้มลงกราบกับพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ทุกครั้ง

       ฆ. เข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์ ถวายพานเครื่องสักการะแก่พระ อาจารย์ แล้วกราบพระสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์นั้น ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ถ้าแสดง ตนหมู่ ทุกคนคงนั่งคุกเข่าประนมมืออยู่กับที่หัวหน้าหมู่คนเดียว นำสักการะที่เดียวเข้าถวาย แทนทั้งหมู่ แล้วกราบพร้อมกับหัวหน้า

       ง. กราบเสร็จแล้วคงคุกเข่าประนมมือ เปล่งคำปฏิญาณตนให้ฉะฉานต่อหน้าสงฆ์ ทั้งคำบาลีและคำแปล เป็นตอน ๆ ไปจนจบเรื่องปฏิญาณ ดังนี้

          คำนมัสการ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

คำแปล

ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

          คำปฏิญาณ

เอสาหํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ

คจฺฉา, ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ, พุทธมามโกติมํ สงฺโฆ ธาเรตุ

คำแปล

     ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพาน ไปนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้า ไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า

          หมายเหตุ :- ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคนทั้งชายหญิง คำปฏิญาณให้เปลี่ยนเฉพาะที่ขีดเส้นใต้ไว้ ดังนี้

          เอสาหํ เป็น ชายว่า เอเต มยํ หญิงว่า เอตา มยํ

          คจฺฉามิ เป็น คจฺฉาม (ทั้งชายและหญิง)

          พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ (ทั้งชายและหญิง)

          มํ เป็น โน (ทั้งชายและหญิง)

          คำแปลก็เปลี่ยนเฉพาะคำ “ข้าพเจ้า” เป็นว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เท่านั้น นอกนั้น เหมือนกัน สำหรับหญิงผู้ปฏิญาณคนเดียวว่า เอสาหํ ฯลฯ ถึง พุทฺธมามโกติ เปลี่ยนเป็นว่า พุทฺธมามกาติ ต่อไปไม่เปลี่ยนตลอดทั้งคำแปลด้วย ถ้าหญิงกับชายปฏิญาณคู่กัน เฉพาะคู่เดียว ให้ว่าแบบปฏิญาณคนเดียว คือ ขึ้น เอสาหํ ฯลฯ พุทฺธมามโกติ ชายว่า หญิงเปลี่ยนว่า พุทฺธมามกาติ เท่านั้น นอกนั้น คงรูปตลอด ทั้งคำแปล

     เมื่อผู้ปฏิญาณกล่าวคำปฏิญาณจบแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นประนมมือรับ “สาธุ” พร้อมกัน ต่อนั้น ให้ผู้ปฏิญาณลดลงนั่งราบแบบพับเพียบกับพื้น แล้วประนมมือ ฟัง โอวาทต่อไป

       จ. ในลำดับนี้ พระอาจารย์พึงให้โอวาทเพื่อให้รู้หัวข้อแห่งพระพุทธศาสนา พอสมควร โดยใจความว่า

ตัวอย่างโอวาทโดยย่อ

     "ท่านเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ประกาศ ตนเป็นพุทธมามกะ คือรับว่า พระพุทธเจ้าเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงสุดของตน ในที่พร้อมหน้า แห่งคณะสงฆ์ ซึ่งประชุมพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ ข้อนี้จัดเป็นลาภอันประเสริฐของท่าน ท่านได้ดี แล้วคือ ได้สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา

     แท้จริง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ได้นามว่า รัตนะ เพราะยังความยินดีให้เกิด แก่ผู้เคารพบรรจบเป็น ๓ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย แก้ว ๓ ประการ เป็นหลักอันสำคัญยิ่งนัก ในพระพุทธศาสนา

     ส่วนข้อปฏิบัติซึ่งพุทธศาสนิกชนจะพึงยึดถือไว้เป็นบรรทัดแห่งความประพฤติย่นย่อ กล่าวตามพระพุทธโอวาท สรุปลงได้ ๓ ประการ คือ

     ๑. ไม่พึงทำบาปทั้งปวง ได้แก่ไม่ประพฤติชั่วด้วย กาย วาจา ใจ

     ๒. บำเพ็ญกุศลให้เกิดมี ได้แก่ประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ

     ๓. ทำจิตของตนให้ผ่องใส คือไม่ให้ขุ่นมัวด้วย โลภ โกรธ หลง

     ขอท่านจงตั้งศรัทธาความเชื่อให้มั่นคง ตรงต่อพระรัตนตรัย และจงตั้งใจสมาทาน เบญจศีล ซึ่งจะได้ให้ท่านสมาทาน ณ กาลบัดนี้ "

     (แนวโอวาทนี้ แล้วแต่ความสามารถของพระอาจารย์จะอธิบายขยายความ ได้มากน้อย)

 






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย