ค้นหาในเว็บไซต์ :

ทาน
เรื่องที่ ๑๔ : สารพันปัญหาว่าด้วยเรื่อง ทาน ๒

เรื่องที่ ๑๔ : สารพันปัญหาว่าด้วยเรื่อง ทาน ๒
โดย ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน


ตอนนี้ จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า

ผู้ถาม "หลวงพ่อคะ การทอดผ้าป่า กับการทอดกฐิน อย่างไหนจะได้อานิสงส์มากน้อยกว่ากัน คะ ?"

หลวงพ่อ "ความจริง ผ้าป่า กับ กฐิน ก็เป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่นะ แต่ทว่าอานิสงส์ โดยเฉพาะ กฐิน ได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด คือจะทอดได้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ แต่อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือผู้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผู้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัยได้หลายสิกขาบท ทำให้สบายขึ้น ต้นเหตุแห่ง การทอดกฐินนี้ ก็มีนางวิสาขาเป็นคนแรก ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติการจำพรรษา เพื่อป้องกันพระไปเดินเหยียบต้นพืช ต้นข้าว ที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้ในฤดูฝน ไม่ให้เสียหาย ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุชาวปาฐา ๓๐ รูป เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้น พระสงฆ์ทั้งหลายมีผ้าจำกัดเพียง ๓ ผืนเท่านั้น เมื่อมาถึง ในขณะที่นางวิสาขาเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่พอดี เห็นพระมีผ้าสบงจีวรเปียกโชก ด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง จึงได้กราบทูลขอพรแด่พระพุทธเจ้าว่า

"หลังจากออกพรรษาแล้ว ขอบรรดาประชาชนทั้งหลายจงมีโอกาสถวายผ้าไตรจีวร แก่คณะสงฆ์ด้วยเถิด" พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุมัติ ส่วนผ้าป่าก็เป็นสังฆทาน แต่อานิสงส์จะน้อยไปนิดหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่เป็นสังฆทานเฉพาะกิจ กับสังฆทานไม่เฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าป่า ผู้ให้ก็ได้อานิสงส์ ผู้รับก็มีอานิสงส์แต่เพียงแค่ใช้ เป็นอันว่า ทั้งสองอย่างนี้ ถือว่าอานิสงส์ การทอดกฐินมากกว่าผ้าป่า"

ผู้ถาม "แล้วองค์กฐินที่แท้จริงเป็นอย่างไรคะ ?"

หลวงพ่อ "องค์กฐินจริงๆ คือผ้าไตร นอกนั้นเป็นบริวาร เวลากรานกฐินจริงๆ เรากรานกันแต่ผ้า การถวายก็ไม่ยาก เรามีผ้าจีวรผืนหนึ่ง หรือว่าสบงผืนหนึ่งหรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เขาเรียกว่า จุลกฐิน หรือจะถวาย ทั้งไตรก็ได้ เขาเรียกว่า ปกติกฐิน แต่ถ้าถวายไตรจีวรครบทั้งวัด เขาเรียกว่า มหากฐิน ฉะนั้น ถวายมากก็ได้ ถวายน้อยก็ได้อานิสงส์เหมือนกัน

สำหรับการทอดกฐินครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์ คือพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระปทุมมุตตระ ท่านเคยเทศน์ไว้วาระหนึ่ง สมัยที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเกิดเป็นมหาทุคคตะ คำว่า "มหาทุคคตะ" นี้คือจนยาก เป็นทาสของท่านคหบดีได้ไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ว่าอานิสงส์กฐินนี้มีมาก ท่านจึงกลับไปชวนนาย แต่นายก็มอบหมายทรัพย์สมบัติให้ท่านเป็นผู้จัดการทุกอย่าง ท่านมหาทุคคตะ อยากมีส่วนร่วมในทานนี้ด้วย แต่ไม่มีอะไรมีแต่เสื้อผ้าเก่าๆของตน ที่มีติดตัวอยู่เพียงชุดเดียว จึงนำไปแลกที่ร้านในตลาด มีด้าย ๑ กลุ่ม เข็ม ๑ เล่มเอามาร่วมในการทอดกฐินกับนาย เพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล พระองค์ตรัสว่า คนถวายผ้ากฐิน หรือร่วม ในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่งจะปรารถนาเป็น พระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็น พระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ถ้าหากว่า ยังไม่ถึงพระนิพพาน เพียงใดอานิสงส์จะให้ผลแก่ท่านผู้นั้นเมื่อตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาแล้วก็จะลงมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก ๕๐๐ ชาติ เมื่อบุญน้อยลงมา จะเป็นพระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ เป็นมหาเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็นอนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็นคหบดี ๕๐๐ ชาติ แต่คนที่ทอดกฐิน หรือว่าร่วมในการทอดกฐินครั้งหนึ่งก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันจะหมด ก็ปรากฏว่า ท่านเจ้าของทาน ไปนิพพานก่อน"




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย