กรรม

  หั ว ข้ อ เ รื่ อ ง ที่ ๑๐ : หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ ( ๕ )
  โ ด ย : พระธรรมปิฎก ( ป.อ.ปยุตฺโต )

จากนี้เราก็มาแบ่งประเภทของกรรมออกไปเมื่อว่าโดยทางแสดงออก ถ้าแสดงออกทางกายทำโน่นทำนี่ ก็เป็นกายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาโดยพูดออกมา ก็เป็นวจีกรร ม ถ้าแสดงออกทางใจอยู่ในระดับความคิดคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ก็เป็นมโนกรรม และกรรมโดยทั่วไปนั้น เมื่อจำแนกโดยคุณภาพก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ
เป็นกรรมดีเรียกว่ากุศลกรรม
เป็นกรรมชั่วเรียกว่าอกุศลกรรม
ในบางแห่งท่านจำแนกออกไปเป็นหลายอย่างมากกว่านี้อีก เช่น
กรรมที่ ๑.เป็นกรรมดำ
กรรมที่ ๒.เป็นกรรมขาว
กรรมที่ ๓.เป็นกรรมทั้งดำทั้งขาว
กรรมที่ ๔.กรรมไม่ดำไม่ขาว
เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมเป็นการอธิบายละเอียดขึ้นไปอีก

กรรมดำคืออะไร? ยกตัวอย่าง เช่น อกุศลกรรมบถ มองให้เห็นหยาบๆก็คือการกระทำที่เป็นการเบียดเบียนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
กรรมขาวก็คือกรรมที่ตรงข้ามกับกรรมดำนั้นไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เป็นการเบียดเบียนแต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริมทำให้ผู้อื่นมีความสุข
และกรรมทั้งดำทั้งขาวก็คือกรรมที่ปะปนกันมีทั้งการกระทำที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนและไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน สุดท้ายมาถึงกรรมไม่ดำไม่ขาวเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมยกตัวอย่าง เช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งบางทีก็เรียกว่ากรรมเหมือนกันแต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมกลับทำให้เราสิ้นกรรมไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองละเอียดถึงความหมายที่แยกประเภทอย่างนี้ เราก็เห็นชัดขึ้นมาว่ากรรมนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกๆคนที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่ทุกเวลานี่เอง เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิดข้อปฏิบัติต่างๆ แม้แต่การปฏิบัติธรรมชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การเจริญโพชฌงค์ ๗ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น ไม่พ้นเรื่องกรรมเลยจะเห็นว่ากรรมในความหมายนี้ละเอียดกว่ากรรมที่เคยพูดในเรื่องไปหักขาไก่ เผาป่าครอกสัตว์หรืออะไรทำนองนั้นต้องแยกแยะกันให้ละเอียดอย่างนี้ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วจะอธิบายกันอย่างไรให้เห็นว่ามันจะออกเป็นผลกรรมได้
ทำไมการกระทำจึงออกผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา นี้ถือว่าเป็นความเข้าใจพื้นฐานขั้นต้นที่ว่าจะต้องพูดกันในเรื่องความหมายของกรรมให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร ?






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย