ค้นหาในเว็บไซต์ :

ศาสนพิธีสำหรับพุทธศาสนิกชน
เรื่อง : การทำบุญใส่บาตร

ศาสนพิธีสำหรับพุทธศาสนิกชน
เรื่อง : การทำบุญใส่บาตร



การทำบุญใส่บาตร จัดเป็นการทำบุญ ข้อทานมัยชาวพุทธควรทำบุญใส่บาตรเป็นประจำ ทุกวันเพื่อเป็นการสร้างบุญวาสนาบารมี อันจะเป็นปุพเพกตปุญญตาสำหรับตนต่อไปในอนาคต โดยตรง และเพื่อเป็นการสืบพระพุทธศาสนาโดยอ้อมกล่าวคือ พุทธศาสนามีอายุ ๒,๕๐๐ กว่าปีได้ เพราะพุทธบริษัททั้ง ๔ (พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) พระสงฆ์สาวกเป็นผู้จำ และถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสืบต่อๆ กันมาจนทุกวันนี้ พระสงฆ์ยังชีพอยู่ ได้ด้วย ปัจจัย ๔ ที่ชาวพุทธจัดถวายให้ พระสงฆ์จึงมีชีวิตจดจำและถ่ายทอดหลักธรรมไว้ สร้างสันติสุขแก่มวลมนุษย์ได้

การทำทานย่อมประกอบด้วยผู้ให้ ผู้รับและสิ่งของ องค์ประกอบ ๓ ประการนี้ต้องบริสุทธิ์ จึงจะได้บุญมาก

๑. ผู้ให้หรือทายก ต้องมีใจบริสุทธิ์ คือ
• ก่อนให้ดีใจ - มีความตั้งใจทำบุญ
• กำลังให้จิตแจ่มใส - มัความตั้งใจขณะทำบุญ
• ให้แล้ว - เบิกบานใจ

๒. ผู้รับหรือปฏิคาหก ในที่นี้ คือพระภิกษุสามเณรต้องเป็นผู้บริสุทธิ์คือเป็นผู้กำลังปฎิบัติเพื่อ บรรเทาราคะ โทสะ โมหะ หรือผู้ไม่มีราคะ, โทสะ , โมหะ

๓. สิ่งของ ต้องเป็นสิ่งของที่บริสุทธิ์ คือ
• สิ่งของนั้นถูกซื้อมาด้วยเงินบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการลักโขมย ฉ้อโกง เล่นการพนัน เป็นต้น
• สิ่งของนั้นหามาได้ด้วยการไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น เช่น ฆ่าสัตว์เพื่อทำบุญ บีบบังคับให้ผู้อื่น หาสิ่งของนั้นมา เป็นต้น
• สิ่งของนั้นสมณบริโภค ไม่เกิดโทษแก่ผู้รับ และมีปริมาณพอเท่านั้น

คำอธิษฐานก่อนใส่บาตร

ก่อนใส่บาตร ควรตั้งจิตอธิษฐานก่อน โดยนั่งกระหย่ง ยกขันข้าวด้วยมือทั้งสองเสมอหน้าผาก แล้วกล่าวคำอธิษฐานต่อไปนี้กี่บทก็ได้

"สุทินนัง วาตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ"
คำแปล "ทานของข้าพเจ้าให้ดีแล้ว ขอจงเป็นเครื่อง นำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส"

"นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เมสะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิเม โหตุ สัพพะทา"
คำแปล "สรณะอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วย การกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า ในการทุกเมื่อเทอญ"

หรือจะอธิษฐานสิ่งอื่นใดตามใจปรารถนาก็ได้ จากนั้นลุกขึ้นยืนตั้งใจตักข้าวและกับและดอกไม้ ธูปเทียน ด้วยความระมัดระวังและด้วยจิตผ่องใส

การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล

การกรวดน้ำ จะกรวดน้ำ ณ ที่ที่ตักบาตรหรือที่บ้านก็ได้ ขณะกรวดน้ำให้กล่าวคำกรวดน้ำอย่าง ย่อ ดังนี้

"อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย"
คำแปล "ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข"




ศาสนพิธีสำหรับพุทธศาสนิกชน



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย