การพัฒนาปัญญา มีอยู่ ๓ ขั้นตอนด้วยกันคือ
ขั้นแรก เรียกว่า สุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังและการได้อ่านซึ่งเป็นการเรียน
รู้เรื่องราวจากผู้อื่น โดยความรู้ที่ได้ จะเป็นประโยชน์มากในการนำมากำหนดแนวคิดของเรา
เอง อย่างไรก็ตาม สุตมยปัญญาก็ไม่อาจช่วยให้เราหลุดพ้นไปได้ เพราะเรื่องที่เราเรียนรู้มา
จากผู้อื่น จนเกิดความเชื่อขึ้นมา ว่าเป็นความจริงนั้น บางทีอาจจะเป็นความเชื่อที่งมงายหรือ
เป็นการเชื่อเพราะ ความกลัว เช่นกลัวว่าหากไม่เชื่อ แล้วจะตกนรกหรือบางครั้งก็เชื่ออย่างมี
อุปาทาน โดยหวังว่าหากเชื่อแล้ว จะได้ขึ้นสวรรค์ซึ่งความเชื่อดังกล่าว เป็นเพราะได้เรียนรู้มา
จากผู้อื่น หาได้เป็นความคิดเห็นอันเกิดจากปัญญาของตนเองไม่
ขั้นที่สอง เรียกว่า จินตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจาก การนำเอาปัญญาในขั้นตอนแรก คือ
สุตมยปัญญา หรือปัญญาจากการได้ฟังและการได้อ่าน มาพินิจพิจารณา หาว่ามีเหตุผลที่
สมควรเชื่อถือได้หรือไม่ และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในทางพ้นทุกข์ได้หรือไม่ ถ้า
ได้ จึงจะยอมรับในการพัฒนาปัญญานั้น เมื่อมาถึงขั้นจินตามยปัญญาแล้ว หากหยุด ไม่พัฒนา
ต่อไป ก็อาจจะทำให้คิดว่า ตนเองเป็นคนมีปัญญาแล้ว ซึ่งการมีความคิดเช่นนั้น ก็เท่ากับไปเพิ่ม
อัตตาให้กับตนเอง และในส่วนนี้ แท้จริงแล้ว ตนเองนั้นยังห่างไกลจากการพ้นทุกข์อยู่อีกมาก
จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ก้าวหน้าต่อไปในขั้นที่สาม
ขั้นที่สาม เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ จนรู้แจ้งเห็นจริงด้วย
ตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง การพัฒนาปัญญาที่เริ่มจากขั้นแรก คือ สุตมยปัญญา ซึ่ง
ได้แก่ การได้ฟังและได้อ่าน จากนั้นจะนำไปสู่การพัฒนาในขั้นที่สอง คือ จินตามยปัญญา ซึ่ง
ได้แก่ การใช้ความคิด พิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ปัญญาทั้งสองนี้จะเป็นประโยชน์
มาก หากใช้เป็นแรงดลใจ และเป็นแนวทางให้ก้าวมาสู่ปัญญาขั้นที่สาม นั่นคือ ภาวนามยปัญญา
อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาภาวนามยปัญญาขึ้นมาได้ ก็โดยการปฏิบัติเท่านั้น เพราะ
ภาวนา--มยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดกับตนเอง โดยการปฏิบัติด้วยตนเอง ปัญญา ๓ ขั้นตอน
ที่ได้อธิบาย ไว้ขั้นต้นนี้ แต่ละขั้น จะมีความแตกต่างกัน แต่เรื่องราวจะต่อเนื่องกัน เพื่อชี้ให้เห็น
ได้เด่นชัด ถึงความแตกต่างของปัญญาทั้ง ๓ ขั้นนี้ จะขอยกตัวอย่างให้เห็นดังนี้ ผู้ป่วยรายหนึ่ง
ได้ไปหาแพทย์ เพื่อตรวจรักษาเมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายเสร็จ ก็ได้ออกใบสั่งยา เมื่อ
ผู้ป่วยได้รับใบสั่งยาแล้ว ก็จะจดจำเฉพาะแต่ชื่อยา โดยที่ไม่ได้สนใจสอบถามแพทย์ ถึงสาเหตุ
ของการเจ็บป่วย และไม่ได้สนใจขอทราบคุณสมบัติของยา ตลอดจนเหตุผลที่แพทย์ได้สั่งให้
ตนใช้ยาชนิดนี้รับประทาน ผู้ป่วยเป็นแต่เพียงมีความเชื่อถือ และศรัทธาในตัวแพทย์ผู้ให้การ
ตรวจรักษา จึงเชื่อถือตัวยาที่แพทย์ออกใบสั่งให้ไปด้วย......ความคิดและความเชื่อในขั้นนี้
เรียกว่า สุตมยปัญญา เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาตามใบสั่งแพทย์แล้ว ไม่หายจึงได้ไปหาแพทย์
อีก เมื่อแพทย์ทำการตรวจ ผู้ป่วยก็จะขอทราบสาเหตุของการเจ็บป่วย รวม ทั้งวิธีการป้องกัน
และเมื่อแพทย์ออกใบสั่งยาให้ ผู้ป่วยก็ขอคำอธิบายถึง คุณสมบัติของยา รวมทั้งจะขอทราบถึง
เหตุผล และความจำเป็น ที่ได้เลือกยาประเภทนี้ใช้รักษาตน.... ความคิดและการใช้ปัญญาใน
การพินิจพิจารณาถึงเหตุและผลในขั้นนี้ เรียกว่า จินตามยปัญญา และเมื่อผู้ป่วยเข้าใจตลอด
ถึงเหตุและผลของอาการเจ็บป่วยและการใช้ยาแล้ว ก็ได้กลับมารับประทานยา และปฏิบัติตน
ตามที่แพทย์แนะนำ จนกระทั่งหายจากอาการเจ็บป่วยนั้น
การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นการใช้ปัญญาในขั้นที่สาม ซึ่งเป็นปัญญาในระดับที่พัฒนาความสามารถ
ควบคุมให้ตนเองกระทำการไปด้วยเหตุ ด้วยผลจนบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเรียกปัญญาขั้นนี้ว่า
ภาวนามย-ปัญญา