ขอเชิญร่วมทำบุญเพื่อบูรณะโบสถ์ วัดชุมพลนิยาการาม บางปะอิน อยุธยา

 bobo     27 ก.พ. 2554

เนื่องจากวัดชุมพลนิยาการาม ขาดปัจจัยในการบูรณะโบสถ์หลังเก่าตั้งงบไว้ 1.5 ล้านบาท แต่เนื่องจากยุคนี้วัสดุอุปกรณ์ และค่าแรงช่างฝีมือมีราคาแพงหลายเท่าตัว ทำให้งบบานปลายไปจนถึง 8 ล้านบาท ถ้าท่านใดสนใจทำบุญ หรือจัดตั้งกองผ้าป่าไปถวายวัดก็สามารถติดต่อวัดได้โดยตรงค่ะ

วัดชุมพลนิกายาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่หัวเกาะบางปะอิน ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดต่อกับเขตอุปจาระพระราชวังบางปะอิน มีอาณาเขตโดยยาวประมาณ ๔ เส้นเศษ ด้านเหนือกว้าง ๑ เส้นเศษ ด้านในยาวประมาณ ๔ เส้นเศษติดกับพระราชวังบางปะอิน ด้านตะวันออกติดคลอง ด้านตะวันตกจรดลำน้ำเจ้าพระยา

รายละเอียด :
วัดชุมพลนิกายาราม สร้างโดยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ หรือพระเจ้าปราสาททอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๑๗๕ ตรงบริเวณที่เป็นเคหสถานเดิมของพระราชชนนีของพระองค์ ตามหลักฐานจากพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๑๙ และในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพงษาดิศรมหิตป โปรดให้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ความว่า “…ที่ทรงสร้างวัดชุมพลนิกายารามนี้เป็นมูลนิเวศสถานของพระราชชนนีแห่งองค์ พระเจ้าปราสาททอง หากจะสันนิษฐานตามหลักฐานที่อ้างอิงทุกกรณีแล้วเห็นว่าเป็นความจริงโดยแน่ แท้ เพราะว่าวัดชุมพลนิกายารามนี้ต่อมาปรากฏว่าเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้านเรนทร์ ที่เป็นพระราชโอรสของพระสรรเพชญ์ที่ ๙ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า ขุนหลวงท้ายสระ ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดโคกแสง ได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์ในครั้งกระนั้น นอกจากนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาปฏิสังขรณ์หรือบูรณะแต่อย่างใด…”


ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ(หลวง) เป็นแม่กองมาปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ สิ้นพระราชทรัพย์ไปประมาณ ๕๐๐ ชั่งเศษ แล้วทรงอุทิศพระราชกุศลแด่พระเจ้าปราสาททองผู้เป็นเจ้าของวัดและทรงอุทิศพระ ราชกุศลแด่เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ผู้ปฏิสังขรณ์ ดังมีพระราชปรารภอยู่ในศิลาจารึกซึ่งติดอยู่ที่พระเจดีย์ทั้งสององค์ด้าน หลังพระอุโบสถ
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยทรงบูรณะพระอุโบสถและพระวิหาร สิ้นพระราชทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก

ปูชนียวัตถุสำคัญในวัดชุมพลนิกายาราม คือ พระประธานพระอุโบสถทั้ง ๗ องค์ ได้แก่ พระวิปัสสีสิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ และโคตมะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหินทรายทั้งหมด และมีพระสาวกอีก ๔ องค์เป็นพระยืน นอกจากนี้มีพระศรีอาริยะเมตไตรโพธิสัตว์อีก ๑ องค์ประดิษฐานอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ โดยเขียนไว้ที่ฝาผนังทุกด้านอย่างงดงามยากจะหาที่ใดเสมอเหมือนภาพเขียนดัง กล่าวได้รับการซ่อมแซมเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ แต่เป็นที่น่าเสียดายด้วยในเวลานี้ภาพเขียนส่วนหนึ่งได้หลุดลอกและลบเลือนไป บ้างแล้ว

ปัจจุบันวัดชุมพลนิกายาราม มีพระครูชุมพลวุฒิกร เป็นเจ้าอาวาส มีพระภิกษุจำนวนทั้งสิ้น ๒๔ รูป และสามเณรจำนวน ๔ รูป



เงื่อนไข :
การเดินทางอยุธยา
ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้

- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทาง หลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี หรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานี ต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวง หมายเลข 3111) แล้วแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานีทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยก สะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทางรถโดยสารประจำทาง
กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา มีรถโดยสารทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รถออกจากสถานีขนส่ง สายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต 2) ทุกวันๆละหลายเที่ยว รถธรรมดาและรถปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 936-1972

ทางรถไฟ
สามารถใช้ขบวนรถโดยสารที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอภาชี ทางรถไฟจะแยกไปสายเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี ในแต่ละวันจะมีรถไฟบริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารขึ้นล่องวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังจัดขบวนรถจักรไอน้ำเดินระหว่างกรุงเทพฯ-สถานีอยุธยา-กรุงเทพฯ ในโอกาสพิเศษ ปีละ 4 ขบวน คือวันที่ 26 มีนาคม (วันสถาปนาการรถไฟและวันที่ระลึกถึงการเปิดทางรถไฟสายแรกที่เดินรถระหว่าง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2433) วันที่ 12 สิงหาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ) วันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงให้กำเนิดกิจการรถไฟไทย) และวันที่ 5 ธันวาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) รายละเอียดสอบถาม หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020

ทางเรือ
ปัจจุบันเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก เพราะนอกจากจะได้ชมทัศนียภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นการย้อนให้เห็นประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ประเทศไทยมีการค้า ขายกับชาวต่างชาติ โดยเรือสำเภาต่างประเทศที่สัญจรในลำน้ำเจ้าพระยาในอดีต
ขอบคุณข้อมูลการเดินทางโดย http://www.ayutthaya.org


3,712






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย