เร่งรัดการปฏิบัติ โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
💎๛อวิชชาและวิชชา จากหนังสือ เร่งรัดการปฏิบัติ ตอนที่ ๑
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย และบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลาย สำหรับวันนี้ก็ขอพูดเรื่อง "สรุปในการเจริญพระกรรมฐาน"
ถ้าจะว่ากันก็ถือว่าเป็นการสอนกันในขั้นจบ เพราะว่าการศึกษาพระกรรมฐานของบรรดาท่านทั้งหลาย ถ้าจะสร้างแบบสร้างแผนกันเรื่อยไป ความจบในการสร้างแบบมันก็ไม่มี
แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากว่าการศึกษาพระกรรมฐานเราต้องการตัด "อวิชชา" คือ ความโง่ แล้วก็สร้าง "วิชชา" ให้เกิดขึ้น
ฉะนั้น การแนะนำในการนี้ จึงถือว่าเป็นการแนะนำขั้นสุดท้าย สำหรับเสียงตามสายที่ท่านเจ้าหน้าที่จัด เวลาหัวค่ำให้เปิดติดต่อกันไป คือในหมวดของพระกรรมฐานที่สร้างขึ้นมาใหม่ เป็นแบบหมวดผสม แล้วก็ต่อด้วยหมวดที่กล่าวต่อไปนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนขั้นต้นและจนกระทั่งถึงวาระจบ จะได้ฟังกันอยู่ในขอบเขตเป็นเครื่องพิจารณา
ถ้าหากว่าเราจะเปิดกันทุกอย่าง นักปฏิบัติก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงจุดได้
วันนี้จะให้ท่านรู้จักคำว่า "อวิชชา" และก็ "วิชชา" "อวิชชา" นี่ท่านแปลว่า ไม่รู้ และก็ขอโปรดทราบคำว่าไม่รู้ในที่นี้ ไม่ใช่หมายความว่าไม่รู้อะไรเสียทั้งหมด ความจริงคนและสัตว์เกิดมาย่อมมีความรู้ เช่น รู้หิว รู้ร้อน รู้กระหาย รู้จักพ่อ รู้จักแม่ รู้จักกิจการงาน รู้จักปวดอุจจาระ รู้จักปวดปัสสาวะ เป็นต้น เป็นอันว่าคนเรามีความรู้
อวิชชา
แต่ว่า…..สำหรับคำว่า "อวิชชา" ที่ว่าไม่รู้นี่ มีขอบเขตจำกัด คือว่าไม่รู้ที่สุดของความทุกข์ หมายความว่าไม่รู้จักหาเหตุที่ทำทางให้เกิดแห่งความทุกข์
ท่านเรียงไว้อย่างนี้ คือ
(1) ไม่รู้จักทุกข์
(2) ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์
(3) ไม่รู้จักความดับทุกข์
(4) ไม่รู้จักทางให้ถึงความดับทุกข์
(5) ไม่รู้จักอดีต
(6) ไม่รู้จักอนาคต
(7) ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต
(8) ไม่รู้จักปฎิจจสมุปบาท
นี่เป็นอันว่า อวิชชา ที่เรียกว่าไม่รู้นี่ มีขอบเขตถือตามนี้ รวมความว่าไม่รู้ทุกข์และก็ไม่รู้เหตุแห่งความดับทุกข์ นี่เป็นเรื่องสำคัญ
วิชชา
และสำหรับคำว่า "วิชชา" แปลว่า ความรู้ ในด้าน วิชชา ที่เรียกกันว่าความรู้นี้ ท่านเรียงไว้อย่างนี้คือ
(1) วิปัสสนาญาณ ญาณอันนับเข้าในส่วนแห่งวิปัสสนา คือ การรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง นี่ วิชชา น่ะรู้ คือ ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง นี่ความรู้ชนิดหนึ่ง
(2) รู้ มโนมยิทธิ คือ สามารถแสดงฤทธิ์ทางใจได้อย่างตามที่พวกเราปฏิบัติหรือประพฤติกัน
(3) รู้ อิทธิวิธี สามารถแสดงฤทธิ์ได้
(4) รู้วิชชาทำให้เกิด ทิพโสตญาณ คือ หูทิพย์
(5) รู้ เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดให้รู้ใจคนอื่น
(6) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถที่จะหาทางให้รู้การระลึกชาติได้
(7) อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป
เป็นอันว่าความรู้ในด้านวิชชา 8 ประการนี้ ความสำคัญที่สุด คือ รู้จักทำ อาสวักขยญาณ ให้สิ้นไป คือ ทำกิเลสให้สิ้นไปนั่นเอง รวมความว่า วิชชา หรือ อวิชชา ท่านก็รู้แล้ว ขอย้อนอีกครั้งหนึ่ง อวิชชา นี่ที่ไม่รู้เพราะว่าไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักหาทางถึงความดับทุกข์ ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต ไม่รู้จัก ปฏิจจสมุปบาท
วันนี้ต้องขอพูดถึง อวิชชา ก่อน เรื่อง อวิชชา คือ คำว่า อวิชชา ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุของความดับทุกข์ และก็ไม่รู้จักความดับทุกข์ คือ ไม่รู้เหตุด้วยและไม่รู้จักดับทุกข์ด้วย ตัวนี้สำคัญ
เป็นอันว่าวันนี้อธิบายกันตอนนี้ ขอให้เราทั้งหลายพากันศึกษาเรื่องของ อวิชชา ให้เข้าใจ บางทีท่านทั้งหลายจะมีความเข้าใจว่าทำไมเรื่องของ อวิชชา มาพูดกันทำไม เป็นอันว่าถ้าท่านเข้าใจใน อวิชชา เสียแล้ว และก็สามารถทำ วิชชา ให้เกิดขึ้น อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ คือแปลว่าโง่
ถ้าสามารถทำ วิชชา คือ ความรู้ ได้แก่ความฉลาดให้เกิดขึ้น ความสุขมันก็มีกับใจ
ไม่รู้จักทุกข์
ทีนี้คำว่า "ไม่รู้จักทุกข์" ก็ได้แก่คนที่มีความประมาทในความเป็นอยู่ หรือว่ามีความประมาทในชีวิต คิดว่าเรายังไม่ตาย คิดว่าความเป็นอยู่ของเรามีความสุข คิดว่าเราไม่แก่ คิดว่าเราไม่ป่วย คิดว่าเราไม่จน รวมความว่าเป็นความคิดเห็นในด้านแห่งความผิด แต่เนื้อแท้จริง ๆ การทรงชีวิตอยู่ของเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เรื่องนี้ท่านทั้งหลายศึกษากันมาพอแล้ว เพราะว่าแบบแผนมีมาก
ฉะนั้น ต่อแต่นี้ไปการเปิดเสียงตามสายก็ขอให้ใช้วิชชาสรุป คือ ใช้กรรมฐานหมวดผสม แล้วก็ต่อด้วยสายนี้ เป็นอันว่าวนไปวนมากันเท่านี้ ถ้าใครเขามีความต้องการในความรู้อย่างอื่น ก็ให้หาทางศึกษากันเอา มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถทำจิตใจของเราให้บรรลุเข้าถึงมรรคผลได้ เพราะว่านักปฏิบัติที่ฟังแล้วจะไม่เกิดความเข้าใจ
ต่อแต่นี้ก็จะมาขอพูดถึงว่า ทำไมจึงไม่รู้จักทุกข์ เพราะว่า ความจริงทุกข์มีอยู่ แต่คนมองไม่เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์มีอยู่ แต่คนมองเห็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ถือว่าเป็นเหตุของความสุขแล้วก็ไม่รู้จักควานหาความดับ
ทุกข์
คำว่า ทุกข์ ในที่นี้ ถ้าเราจะใช้ปัญญาพิจารณากันสักเล็กน้อย เราก็จะทราบชัดว่า ความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นกับเรามันมีอะไรบ้าง มานั่งหาความทุกข์กันสักนิดหนึ่ง คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราจริง ๆ นี่มันมีอยู่ทุกวัน
ตอนเช้าตื่นขึ้นมามีความรู้สึกยังไง ถ้าไม่ชำระล้างหน้าแปรงฟัน มันสบายหรือไม่สบาย และก็บังเอิญมันตื่นขึ้นมาแล้วการปวดอุจจาระมันเกิดขึ้น ถ้าเราหาโอกาสในการถ่ายไม่ได้ ใจของเราจะเป็นสุขหรือว่าใจของเราจะเป็นทุกข์
นี่เราไม่พูดกันถึงกาย กายนี้ถ้ามันไม่มีใจเสียอย่างเดียว มันก็ไม่มีความรู้สึก ความสุขหรือความทุกข์นี้มันอยู่ที่ใจ
ถ้าหิวอาหารไม่ได้บริโภคอาหาร มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ การประกอบกิจการงานทุกอย่างต้องใช้กำลังกาย ต้องใช้กำลังทรัพย์ ต้องใช้กำลังความคิด มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การปฏิบัติงานทุกประเภท ต้องมีการกระทบกระทั่งในระหว่างบุคคลหรือมีความขัดข้องในกิจการงาน ซึ่งมันเป็นไปได้ไม่สะดวกนัก ไอ้ความไม่สะดวกของการงาน มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ นั่งคิดดูให้ดี
ไอ้คนร่ำรวยสุขหรือทุกข์ รวยมากระแวงอันตรายมาก รวยมากมีความวุ่นวายมากลืมจน เป็นอันว่าคนรวยนอนสะดุ้งอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะเกรงว่าอันตรายจะเกิดขึ้นจากบุคคลต้องการทรัพย์สิน ซึ่งเรามีข่าวอยู่เสมอ สองวันนี้ก็มีข่าวว่าจับคนเอาไปเรียกค่าไถ่
และในโอกาสนี้น้ำท่วมมาก บางบ้านถึงกับหมดตัว บางบ้านน้ำท้วมถึงหลังคา ทรัพย์สินอะไรมันจะเหลือ บางคนก็ต้องลอยน้ำไปตายในน้ำ เพราะไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ สำหรับคนที่ยังไม่ตายก็มีแต่ความหิวโหย ตามข่าวที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารเอาข้าวสารไปแจก คนมากกว่าข้าวสาร เข้าทำการยื้อแย่งข้าวสารกัน นี่เป็นอันว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ถ้าบางทีสำหรับคนโง่ที่มี อวิชชา เข้าประจำใจ ก็จะคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่เกิดกับเรา เพราะอะไร เพราะว่ามันยังมาไม่ถึงเรา เราก็เลยคิดว่ามันจะมาไม่ถึงเรา เราก็ต้องคิดไว้ว่าสักวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้น มันจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ และก็ช่วยกันนึกถึงตรงนี้ไว้ให้มาก นี่เป็นทุกข์ภายนอก
สำหรับทุกข์ภายในที่ได้กล่าวว่า "เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความแก่ไปได้" คนแก่นี่มีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ เรายังไม่แก่ เราอาจจะไม่มีความรู้สึก หรือว่าคนแก่หลาย ๆ คนก็อาจจะไม่มีความรู้สึกว่า ไอ้ความแก่นี่มันสุขหรือมันทุกข์ คนที่ยังแก่ไม่มากหรือว่ายังไม่แกอาจจะมองเหยียดหยามคนแก่ ว่าท่าทางของคนแก่นี่งก ๆ เงิ่น ๆ เป็นที่น่ารังเกียจ จะลุกจะเดินจะนั่งจะทำอะไรแต่ละอย่าง ก็รู้สึกว่าน่าเกลียดไปเสียทุกอย่าง ไม่มีอะไรดีเลย และอาการอย่างนี้มันเป็นความประมาทที่เรียกกันว่า อวิชชา ไม่ได้คิดว่าอาการอย่างนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้ามันจะต้องมาพบกับเรา ถ้าเรายังไม่แก่ก็ดูคนแก่ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง กิจการงานทุกอย่าง เขาไม่สามารถจะช่วยตนเองได้เหมือนเมื่อสมัยความเป็นหนุ่มเป็นสาว งานที่เคยคล่องตัว คนแก่ทำไม่ไหว ต้องหาคนอื่นเข้ามาช่วยทำ การที่จะไหว้วานคนอื่นเขามันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ เราก็ต้องถือว่ามันเป็นอาการของความทุกข์ ทั้งนี้เพราะอะไร ทุกข์ใจ กายน่ะมันทุกข์แน่ เพราะว่ากายเราทำไม่ไหวก็ไปวานคนอื่นเขา ถ้าบังเอิญคนอื่นเขาเกิดไม่ตามใจเรา ทั้งนี้มันจะเป็นอย่างไรล่ะ
เราวานเขา สมมติว่าจะยกอะไรสักนิดหนึ่ง วานเขายกอะไรสักนิดหนึ่ง วานเขายก แต่เรื่องของเราต้องการความรีบด่วน แต่เขาบอกว่าเดี๋ยวก่อนก็ได้ แล้วเขาก็เดินเลยไป ตอนนี้กำลังใจของเราจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็เริ่มเป็นทุกข์แล้ว แก่เป็นทุกข์
ต่อมาท่านก็กล่าวว่า "การเกิดขึ้นมันก็ต้องมีความป่วยไข้ไม่สบายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความป่วยไข้ไม่สบายไปได้" อาการป่วยไข้ไม่สบายนี่ ความจริงทุกคนมีมาทุกคน รู้จักป่วยมาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่ว่าจะมาเพิ่งรู้จักป่วยอีตอนที่เวลานี้อยู่ที่นี้ ความจริงเรารู้จักป่วยกันมานานตั้งแต่วันแรกเกิดมาความเสียดแทงมันก็เกิดอยู่ในครรภ์ของมารดามีความอบอุ่น มีไฟธาตุประคบประหงม ไม่ถูกต้องกับอากาศ เมื่ออกมาจากท้องแม่ใหม่ ๆ คลายความอบอุ่น ผิวกายต้องแสบ และต้องระทมไปด้วยอาการของความทุกข์ จึงเกิดอาการร้องจ้าขึ้นมา นี่เรารู้จักเจ็บป่วยแล้ว ความหิวมันเป็นโรคอย่างยิ่ง
คำว่า "โรค" ป่วยนี่ก็หมายความว่าโรค โรคนี่หมายถึง อาการเสียดแทง และจากนั้นมาเราก็มีโรคทุกอย่าง การป่วยไข้ไม่สบายแต่ละคราว มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ นี่เป็นอันว่าทุกข์มันมีอยู่กับเราทุกวัน แต่ว่าเราไม่คิด
โรคชนิดหนึ่งที่มีกับเราประจำวัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ชิฆัจฉา ปรมา โรคา"
ขึ้นชื่อว่าความหิวมันเป็นโรคอย่างยิ่ง
"โรค" ก็แปลว่า เสียดแทง
คราวนี้ความหิวมันก็มีกับเราหรือเปล่า โรคหิวมันมีวันละหลายครั้ง ยังมีโรคปวดหัว ท้องอืด เสียดท้อง เจ็บโน่น ปวดนี่ ก็ไม่มีอะไรจะดีสักอย่าง
นี่เป็นอันว่าการเกิดของเรา มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์มันมาจากไหน มาจาก "ขันธ์ 5" คือ ร่างกาย ถ้าไม่มีร่างกาย มันจะมีทุกข์มาจากไหน
ต่อมาทุกข์สำคัญขั้นสุดท้ายก็คือ "ความตาย" คนทุกคนก็เดินเข้าหาความตาย
แต่ผู้ที่มี อวิชชา คือ ความโง่ ไม่เคยคิดว่าจะตาย เห็นชาวบ้านเขาตายยอมรับนับถือว่าเขาตาย เผาชาวบ้านเขาได้ แต่ไม่เคยคิดว่าเราจะต้องถูกเผาบ้าง อาการอย่างนี้เป็นอาการของความโง่ หรือ เป็นอาการของความฉลาด อันนี้เราก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นอาการของความโง่ ไม่มีอาการของความฉลาด
สำหรับคนที่ฉลาดเป็นยังไง คนที่ฉลาดมีความไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าถ้ายังเกิดอยู่อย่างนี้ เราก็หาความดีอะไรไม่ได้ ต้องหาทางตัดความเกิดเสีย คือ สามารถทำอาสวกิเลสที่ปรากฏในจิตให้สิ้นไป แต่ว่าการที่จะก้าวไปหาการทำกิเลสให้สิ้นไป ก็ต้องแบ่งออกเป็น 4 อย่าง นั่นก็คือ
(1) สุขวิปัสสโก ทำอาสวกิเลสให้สิ้นไป โดยถือว่าไม่ต้องหาวิชชาอย่างอื่นเข้ามาช่วย
(2) เตวิชโช มี วิชชาสาม
(3) ฉฬภิญโญ มี อภิญญาหก
(4)ปฏิสัมภิทัปปัตโต ทำ ปฏิสัมภิทาญาณ ให้เกิดขึ้น
แต่ความมุ่งหมายจริง ๆ ก็คือ การทำกิเลสให้สิ้นไป สุดแท้แต่กำลังจิตของคน ถ้ากำลังจิตของคนมีความฉลาดจริง ๆ ใช้จิตฉลาดมีความสามารถในการใช้ปัญญา ก็ใช้ สุขวิปัสสโก นี่สะดวกสบายแต่ความฉลาดน้อยไป เราก็อาศัยอย่างอื่นเข้ามาช่วยผสม นั่นคือ วิชชา 8 คือ
(1) วิปัสสนาญาณ พยายามฝึกฝนค้นคว้าหาความจริงด้วยกำลังของปัญญา เป็นคนรู้จักเหตุ รู้จักผล
(2) ถ้ากำลังมันอ่อนไปก็ใช้ มโนมยิทธิ คือ มีฤทธิ์ทางใจ สามารถถอด อทิสสมานกาย คือ กายภายใน ท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ ไปพิสูจน์คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่านรกมีจริง เปรตมีจริง อสุรกายมีจริง พรหมมีจริง นิพพานมีจริง จริงน่ะมันมีจริงหรือไม่จริง เพื่อความมั่นใจของตัวเองก็ต้องสร้าง มโนมยิทธิให้เกิดขึ้น
(3) สร้างฤทธิ์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับตัว สามารถแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ เหาะเหินเดินอากาศ ไปนรก ไปสวรรค์ได้เลย
(4) สร้าง ทิพโสตญาณ หูทิพย์ สามารถฟังเสียงเทวดา เสียงพรหม เสียงสัตว์นรกได้ ได้ทุกเสียง
(5) เจโตปริยญาณ ใช้วิชชาพิจารณาจิตตนหรือว่าจิตของบุคคลอื่น เพราะว่าไอ้จิตจริง ๆ ที่มันมีอะไรเข้ามาผสม เนื้อแท้ของจิตมันมีอะไรบ้าง
..
ที่ความระยำมันเกิดขึ้นเพราะอาศัยอะไรเป็นเครื่องเสี้ยมสอน อะไรเป็นเครื่องหุ้มห่อ
(6) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สร้างความรู้ระลึกชาติถอยหลังไปได้ เป็นการช่วยกำลังใจ ทั้งหมดนี้นะ ช่วยกำลังใจเพื่อทำให้กิเลสหมดไป
(7) ทิพจักขุญาณ ทำตาทิพย์ คือ สามารถจะรู้เทวดา รู้สรรค์ รู้นรก รู้พรหม รู้นิพพานได้ การกระทำอย่างนี้ก็เพื่อสร้างกำลังใจ เพื่อสร้างความมั่นคงให้เข้าถึง
(8) อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณ ก็หมายความว่า ทำกิเลสคือ ทำความชั่วของจิตให้หมดไป
นี่เป็นอันว่าสำหรับวันนี้ ก็ขอแนะนำท่านทั้งหลายให้รู้เรื่องของ อวิชชา และก็ วิชชา ให้ทราบว่า อวิชชา ได้แก่อะไร ทวนกันอีกนิดก่อนจะหมดเวลา เหลือเวลาอีก 2 นาที
อวิชชา ได้แก่
(1) ไม่รู้จักทุกข์ นี่เพราะความโง่
(2) ไม่รู้จักเหตุที่ให้เกิดทุกข์
(3) ไม่รู้จักความดับทุกข์ แล้วก็
(4) ไม่รู้จักทางถึงความดับทุกข์
(5) ไม่รู้จักอดีต ว่าข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร
(6) ไม่รู้จักอนาคต
(7) ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต
(8) ไม่รู้จัก ปฏิจจสมุปบาท คือหมายความว่าอะไรเกิดแล้ว ต่อไปอะไรเกิดขึ้น อย่างที่กล่าวว่า
อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขาระปัจจยา วิญญาณัง วิญญานะปัจจยา…. ตามลำดับ
นี่สำหรับ วิชชา ก็มี 8 อย่าง เพื่อทำจิตใจให้สิ้นจากกิเลส คือ ว่าให้พ้นทุกข์ ถ้ากำลังใจอ่อนก็พยายาม
(1) เจริญวิปัสสนาญาณ เอาจิตเขาไปยอมรับนับถือความเป็นจริง แล้วก็
(2) ทำฤทธิ์ทางใจให้เกิดขึ้น ที่เรียกกันว่า มโนมยิทธิ ที่เราฝึกกัน
(3) สร้างฤทธิ์ให้เกิดขึ้น
(4) ทำหูให้เป็นทิพย์
(5) สร้างกำลังใจสามารถรู้ใจตนและใจคนอื่น
(6) พยายามสร้างวิชชาระลึกชาติได้ ถอยหลังไปตามหาความจริง
(7) ทำตาทิพย์ให้เกิดขึ้น
(8) ทำจิตให้พ้นจากอาสวะ
เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย และพระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้เราก็เริ่มต้นขั้นสรุปของการเจริญพระกรรมฐาน หลังจากนี้ไปในวันต่อ ๆ ไป ก็จะได้นำหลักการแห่งการเจริญพระกรรมฐานในขั้นสรุป ถือว่าเป็นหลักปฏิบัติสำหรับสำนักของเรา ที่ว่าการเปิดเสียงตามสาย ให้ใช้กรรมฐานบทใหม่และก็บทสรุปนี้ วนกันมาวนกันไปเพื่อความเข้าใจของนักปฏิบัติ
เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัท เวลาที่จะพูดกันก็หมดแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วทุกท่าน ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นสมควรแก่กาลเวลาของท่าน
หนังสือ เร่งรัดการปฏิบัติ
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
ที่มา : หนังสือ เร่งรัดการปฏิบัติดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน