เจดีย์ และสถูปสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
หมวดที่ ๔ - พุทธสถาน
"เจดีย์ และสถูปสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า"
"เจดีย์" มีความหมายว่า ที่เคารพนับถือ , บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา ,เจดีย์เกี่ยวกับเจดีย์ และสถูปสำคัญมี ๔ อย่างคือ
๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่เจดีย์ พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรมคือ พุทธพจน์
๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป
ในที่นี้จะกล่าวถึงบริโภคเจดีย์ นอกเหนือไปจากสังเวชนียสถานทั้ง ๔ และกุฏิวิหารที่พระพุทธเจ้าทรงเคยใช้สอย ซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้ว
ส่วน "สถูป" มีความหายว่าสิ่งก่อสร้างซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์ที่เตือนใจให้เกิดปสาทะและกุศลธรรมอื่น ๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงพระสถูปที่มีความเกี่ยวข้องกับบริโภคเจดีย์ ส่วนสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือธาตุเจดีย์นั้น ได้แยกไปกล่าวถึงในหมวดที่ ๘ หัวข้อ "พระสถูปเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ"แล้ว
สำหรับเจดีย์และสถูปสำคัญอันนับเนื่องอยู่ในบริโภคเจดีย์ เท่าที่นำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้ มีดังนี้
๑. จุฬามณีเจดีย์ ตั้งอยู่ ณ สวรรคชั้น ๒ คือ ดาวดึงสเทวโลกเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬาโมลี (มวยผม) ของพระสิทธัตถะ เมื่อครั้งเสด็จออกบรรพชา ครั้งเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้ว จะอธิฐานเพศบรรชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปในอากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับนำไปประดิษฐานในพระจุฬามณี
ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานแล้ว ในขณะแจกพระบรมสารีริกธาตุ พระอินทร์ได้นำเอาพระทาฐธาตุคือพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ใส่ผอบทองนำไปบรรจุในจุฬามณีด้วย นอกจากนั้นพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า)เบื้องขวาก็ประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถานเช่นกัน
๒. โคตมกเจดีย์ เจดีย์สถานอยู่ทางทิศใต้ของนครเวสาลีนครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับหลายครั้งและเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
๓. ทุสสเจดีย์ เจดียสถาน ณ พรหมโลก ซึ่งฆฏิการพรหมหรือพระพรหมผู้นำสมณบริขารมีบาตรและจีวร เป็นต้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์เมื่อคราวออกบรรพชา และนำพระภูษาเครื่องทรงในฆาราวาสที่พระโพธิสัตว์ สละออกเปลี่ยนมาทรงจีวร นำไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ครั้นพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิส (มงกุฎจากเครื่องอาภรณ์มหาลดาปสาธน์ที่นางมัลลิกาทูลอัญเชิญสวมพระพุทธสรีระศพ) ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก
๔. ปาวาลเจดีย์ เจดีย์สถานอยู่ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ พระมหาสาวกอุปัฏฐากประจำพระองค์ เป็นครั้งที่ ๑๖ และครั้งสุดท้ายจากนั้นพระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายะสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน
๕. ปาสาณเจดีย์ เจดีย์สถานในแคว้นมคธซึ่งมาณพ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ตั้งอาศรมสอนไตรเพท แก่ศิษย์อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธารรี ณ สุดเขตแดนแคว้นอัสสกะ พราหมณ์พาวรีได้ส่งศิษย์ ทั้ง ๑๖ คนไปถามปัญหาพระบรมศาสดา เพื่อจะทดสอบว่าพระพุทธองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงหรือไม่ ณ ปาวาลเจดีย์แห่งนี้ ภายหลังได้รับคำตอบ พราหมณ์พาวรีบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีส่วนศิษย์ ทั้ง ๑๖ ได้บรรลุพระอรหัต และถูกจัดเป็นพระมหาสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ ทุกองค์ด้วยกัน
๖. พหุปุตตเจดีย์ เจดีย์สถานอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเวสาลีนครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
๗. เจดีย์พุทธคยา เจดีย์สถานอยู่ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในแคว้นมคธสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นโพธิ์ และได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี่ พระวิหารเจดีย์พุทธคยาสูง ๑๖๐ ฟุต สร้างเป็นหอสูงรูปสี่เหลี่ยมพีระมิดปลายยอดตัดรองรับพระสถูปที่ด้านบนยอดสุด องค์พระเจดีย์สร้างตั้งแต่หลังสมัยพุทธกาล ปัจจุบันเป็นตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร
๘. มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ อยู่ทางทิศตะวันออกของนครกุสินารา แคว้นมัลละ มกุฏพันธนเจดีย์อยู่ห่างจากสาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานประมาณ ๑ กิโลเมตร
๙. รัตนฆรเจดีย์ เจดีย์เรือนแก้ว อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงประทับพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกเป็นเวลา ๗ วัน เป็นสัปดาห์ที่ ๔ แห่งการเสวยวิมุตติสุขถายหลังจากตรัสรู้
๑๐. รัตนจงกรมเจดีย์ เจดีย์ที่จงกรมแก้ว อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างกลางแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างกลางแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงเสด็จจงกลมตลอด ๗ วัน นับเป็นสัปดาห์ที่ ๓ แห่งการเสวยวิมุตติสุข ภายหลังจากตรัสรู้
๑๑. สัตตัมพเจดีย์ เจดีย์สถานที่นครเวสาลี นครหลวงแคว้นวัชชี ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
๑๒. สารันทเจดีย์ เจดีย์สถานที่นครเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
๑๓. อนิมิสเจดีย์ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จยืนจ้องดูต้นพระศรีมหาโพธิโดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ นับเป็นสัปดาห์ที่ ๒ แห่งการเสวยวิมุตติสุขทังหมดรวม ๗ สัปดาห์ ภายหลังจากทรงตรัสรู้
๑๔. อัคคาฬวเจดีย์ อยู่ใกล้อาฬวีนคร หลังจากทรงทรมาณอาฬวยักษ์ให้สิ้นพยศและตั้งมั่นอยู่ในอริยธรรม ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดชาวเมืองอาฬวีให้ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๖ ภายหลังจากตรัสรู้ ณ สถานที่แห่งนี้
๑๕. อานันทเจดีย์ เจดียสถานในเขตโภคนคร ระหว่างทางจากเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ไปสู่เมืองปาวา แคว้นมัลละ ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ทรงประทับแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองโภคนคร พระพุทธเจ้าตรัสมหาปเทศ ๔ ฝ่ายพระสูตร(หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔) จากนั้น พระบรมศาสดาเสด็ดต่อไปยังปาวานคร แล้วเสด็จไปยังสาลวโนทยาน ใกล้เมืองกุสินารา ทรงดับขันธปรินิพพาน
ในส่วนของพระสถูปที่มีความเกี่ยวพันถึงบริโภคเจดีย์ ได้ประมวลนำมาไว้ ณ ที่นี้ ๔ พระสถูปด้วยกันดังนี้
๑. เจาคันธีสถูป สถูปแห่งนี้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเป็นที่ระลึกที่พระพุทธเจ้าทรงพบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ภายหลังจากทรงตรัสรู้ สร้างขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วกว่า ๒๐๐ ปี ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี
๒. ธัมเมกขสถูป อยู่ใกล้เคียงกับเจาคันธีสถูป เป็นสถานที่ระลึกถึงในกาลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก ณ ที่ แห่งนี้
๓. ตุมพสถูป พระตุมพเจดีย์อยู่ที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ พระสถูปแห่งนี้บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อแบ่งปันให้กษัตริย์ทั้งปวง โดยโทณพราหมณ์ เป็นผู้ตักตวงพระบรมธาตุแบ่งปันถวายกษัตริย์ทั้งหลาย และขอประทานทะนานทองตวงพระบรมธาตุอัญเชิญไปสร้างตุมพสถูปเจดีย์
๔. อังคารสถูป พระอังคารสถูปเจดีย์อยู่ที่เมืองปิปผลิวัน โดยโมริยกษัตริย์ผู้ครองเมือง ได้ทราบข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานจึงส่งราชทูตให้มาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ ณ นครกุสินารา ทั้งยกพลหยุหเสนาตามมาภายหลัง ครั้นกษัตริย์มัลลราชแห่งกุสินาราแจ้งว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้น กษัตริย์ทั้ง ๘ พระนครได้ไปประชุมแบ่งปันกันหมดสิ้นแล้ว ยังอยู่แต่พระอังคาร (ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ขอให้เชิญพระอังคารไปทำการสักการบูชาเถิด โมริยกษัตริย์จึงอัญเชิญพระอังคารมาประดิษฐาน ณ พระอังคารสถูปเจดีย์ เมืองปิปผลิวัน
สำหรับพระบริขารพุทธบริโภค (เครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้า) ทั้งหลายนั้นได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูป ๑๑ แห่งตามนครต่าง ๆ ดังนี้
๑. พระกายพันธ์ (ประคตเอว,สายรัดเอว) สถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร
๒. พระอุทมสาฎก (ผ้าคลุมอาบน้ำ) สถิตอยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ
๓. พระจัมมขันธ์ (เครื่องหนังต่าง ๆ) สถิตอยู่ที่เมืองโกสลราฐ
๔. ไม้สีฟัน สถิตอยู่ที่เมืองมิถิลา
๕. พระธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) สถิตอยู่ที่เมืองวิเทหราฐ
๖. มีด กับ กล่องเข็ม สถิตอยู่ที่เมืองอินทปัตถ์
๗. ฉลองพระบาทและถลกบาต (รองเท้าและถุงบาตรที่มีสายคล้องบ่า) สถิตอยู่ที่เมืองอุสิรพราหมณคาม
๘. เครื่องลาด (เครื่องปูนั่งนอน) สถิตอยู่ที่เมืองมกุฏนคร
๙. ไตรจีวร (ผ้าสามผืนที่พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุมีไว้ใช้ประจำตัวคือ ผ้าทาบ, ผ้าห่ม(จีวร),ผ้านุ่งสบง) สถิตอยู่ที่เมือง ภัททาราฐ
๑๐. บาตร เดิมสถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร ภายหลังไปอยู่ที่เมืองลังกาทวีป
๑๑. นิสีทนะสันถัต (ผ้าปูนั่ง,ผ้ารองนั่ง) สถิตอยู่ที่เมืองกุรุราฐ
ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข