ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มิลินทปัญหา - มุทิตา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มิลินทปัญหา - มุทิตา

มิลินทปัญหา คัมภีร์สำคัญ บันทึกคำสนทนาตอบปัญหาธรรมระหว่างพระนาคเสนกับพระยามิลินท์

มิสสกสโมธาน การประมวลครุกาบัติระคนกัน, เป็นชื่อปริวาสสำหรับภิกษุผู้ ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสต่างวัตถุกัน หมายความว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัวต่างสิกขาบทกัน ซึ่งมีวันปิดเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเหล่านั้น ขอปริวาสจากสงฆ์เพื่ออยู่กรรมชดใช้ทั้งหมด

มุข หัวหน้า, หัวข้อ, ปาก, ทาง

มุขปาฐ คำออกจากปาก, ข้อความที่ท่องจำกันมาด้วยปากเปล่า ไม่ได้เขียนไว้, ต่อปากกันมา (พจนานุกรมเขียน มุขบาฐ)

มุขปุญฉนะ ผ้าเช็ดปาก

มุจจลินท์
1.ต้นจิก, ไม้จิก ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไม้นี้ ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๓ ตามพระวินัย, สัปดาห์ที่ ๖ ตามคัมภีร์ชาดก)
2. ชื่อพระยานาคที่เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก (มุจจลินท์) ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาวตลอด ๗ วัน พระยามุจจลินทนาคราชจึงแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันฝนและลมมิให้ถูกต้องพระกาย นี่เป็นมูลเหตุของการสร้างพระพุทธรูปนาคปรก

มุจจิตุกัมยตาญาณ ดู มุญจิตุกัมยตาญาณ

มุจฉา ลมจับ, สลบ, สวิงสวาย

มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย, ความหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ ต้องการจะพ้นไปเสียจากสังขารที่เบื่อหน่ายแล้ว ด้วยนิพพิทานุปัสสนาญาณ (ข้อ ๖ ในวิปัสสนาญาณ ๙)

มุฏฐิ กำมือ ดู มาตรา

มุตตะ ดู มูตร

มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนไม่กีดกันริษยา;ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย