มุนี - มูลบัญญัติ
มุนี นักปราชญ์, ผู้สละเรือนและทรัพย์ สมบัติแล้ว มีจิตใจตั้งมั่นเป็นอิสระไม่เกาะเกี่ยวติดพันในสิ่งทั้งหลาย สงบเย็น ไม่ทะเยอทะยานฝันใฝ่ ไม่แส่พร่านหวั่นไหว มีปัญญาเป็นกำลังและมีสติรักษาตน, พระสงฆ์หรือนักบวชที่เข้าถึงธรรมและดำเนินชีวิตอันบริสุทธิ์
มุสา เท็จ, ปด, ไม่จริง
มุสาวาท พูดเท็จ, พูดโกหก, พูดไม่จริง (ข้อ ๔ ในกรรมกิเลส ๔, ข้อ ๗ ในมละ ๙, ข้อ ๔ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)
มุสาวาทวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องพูดปดเป็นต้น เป็นวรรคที่ ๑ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ แห่งวินัยปิฎก
มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ, เว้นจากการพูดโกหก, เว้นจากพูดไม่จริง (ข้อ ๔ ในศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐)
มูควัตร ข้อปฏิบัติของผู้ใบ้, ข้อปฏิบัติของผู้เป็นดังคนใบ้, การถือไม่พูดจากันเป็นวัตรของเดียรถีย์อย่างหนึ่ง มีพุทธบัญญัติห้ามไว้มิให้ภิกษุถือ เพราะเป็นการเป็นอยู่อย่างปศุสัตว์
มูตร ปัสสาวะ, น้ำเบา, เยี่ยว
มูรธาภิเษก พิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น
มูล (ในคำว่า “อธิกรณ์อันภิกษุจะพึงยกขึ้นว่าได้นั้น ต้องเป็นเรื่องมีมูล”) เค้า, ร่องรอย, ลักษณะอาการที่ส่อว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น, เรื่องที่จัดว่ามีมูลมี ๓ อย่าง คือ เรื่องที่ได้เห็นเอง ๑ เรื่องที่ได้ยินเอง หรือผู้อื่นบอกและเชื่อว่าเป็นจริง ๑ เรื่องที่รังเกียจโดยอาการ ๑
มูลค่า ราคา
มูลเฉท ตัดรากเหง้า, หมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งผู้ต้องขาดจากความเป็นภิกษุและภิกษุณี
มูลนาย (ในคำว่า “เลขสม คือ เลขสมัครมีมูลนาย”) ผู้อุปการะเป็นเจ้าบุญ นายคุณ อย่างที่ใช้ว่าเจ้าขุนมูลนาย
มูลบัญญัติ ข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้เดิม, บัญญัติเดิม คู่กับ อนุบัญญัติ (ตามปกติใช้เพียงว่า บัญญัติกับอนุบัญญัติ)