๘ นารทชาดก

 

   พระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า อังคติราช ครองเมืองมิถิลา เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม พระธิดาของพระเจ้าอังคติราชมีพระนามว่า รุจาราชกุมารี มีรูปโฉมงดงาม พระราชาทรงรักใคร่พระธิดาอย่างยิ่ง

   คืนวันหนึ่งเป็นเทศกาลมหรสพ ประชาชนพากัน ตกแต่งเคหสถานอย่างงดงาม พระเจ้าอังคติราช ประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าอำมาตย์ในปราสาทใหญ่ ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการ พระจันทร์กำลังทรงกลด เด่นอยู่กลางท้องฟ้า พระราชาทรงปรารภกับหมู่อำมาตย์ว่า
"ราตรีเช่นนี้น่ารื่นรมย์นัก เราจะทำอะไรให้เพลิดเพลินดีหนอ"

อลาตอำมาตย์ทูลว่า
"ขอเดชะ ควรจะเตรียมกองทัพใหญ่ยกออกไปกวาดต้อนดินแดนน้อยใหญ่ ให้เข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจพระเจ้าข้า"

สุนามอำมาตย์ทูลว่า
"ทุกประเทศใหญ่น้อยก็มาสวามิภักดิ์อยู่ในพระราชอำนาจหมดแล้ว ควรที่จะจัดการเลี้ยงดูดื่มอวยชัยให้สำราญ และหาความ เพลิดเพลินจากระบำรำฟ้อนเถิดพระเจ้าข้า"

วิชัยอำมาตย์ทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ เรื่องการระบำ ดนตรีฟ้อนร้องนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรอยู่แล้วเป็นนิตย์ ในราตรีอันผุดผ่องเช่นนี้ ควรไปหาสมณพราหมณ์ผู้รู้ธรรม แล้วนิมนต์ท่านแสดงธรรมะจะเป็นการควรกว่าพระเจ้าค่ะ"

พระราชาพอพระทัยคำทูลของวิชัยอำมาตย์ จึงตรัสถามว่า
"เออ แล้วเราจะไปหาใครเล่าที่เป็น ผู้รู้ธรรม"

อลาตอำมาตย์แนะขึ้นว่า
"มีชีเปลือยรูปหนึ่งอยู่ในมิคทายวัน เป็นพหูสูตร พูดจาน่าฟัง ท่านคงจะช่วยขจัดข้อสงสัยของเราทั้งหลายได้ ท่านมีชื่อว่า คุณาชีวก"

พระเจ้าอังคติราชได้ทรงฟังก็ยินดี สั่งให้เตรียมกระบวนเสด็จไปหาชีเปลือยชื่อคุณาชีวกนั้น

   เมื่อไปถึงที่ ก็ทรงเข้าไปหาคุณาชีวก ตรัสถามปัญหาธรรมที่พระองค์สงสัยอยู่ว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมกับบิดา มารดา อาจารย์ บุตร ภรรยา อย่างไร เหตุใดชนบางพวกจึงไม่ตั้งอยู่ในธรรม ฯลฯ คำถามเหล่านี้ เป็นปัญหาธรรม ขั้นสูงอันยากจะตอบได้ ยิ่งคุณาชีวกเป็นมิจฉาทิฏฐิผู้โง่เขลาเบาปัญญาด้วยแล้ว ไม่มีทางจะเข้าใจได้ คุณาชีวกจึงแกล้งทูลไปเสียทางอื่นว่า
"พระองค์จะสนพระทัยเรื่องเหล่านี้ไปทำไม ไม่มีประโยชน์อันใดเลยพระเจ้าข้า โปรดฟังข้าพเจ้าเถิด ในโลกนี้บุญไม่มี บาปไม่มี ปรโลกไม่มี ไม่มีบิดามารดา ปู่ย่าตายาย สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเสมอกันหมด จะได้ดีได้ชั่วก็ได้เอง ทานไม่มี ผลแห่งทานก็ไม่มี ร่างกายที่ประกอบกันขึ้นมานี้ เมื่อตายไปแล้วก็สูญสลายแยกออกจากกันไป สุขทุกข์ก็สิ้นไป ใครจะฆ่าจะทำร้ายทำอันตราย ก็ไม่เป็นบาป เพราะบาปไม่มี สัตว์ทุกจำพวก เมื่อเกิดมาครบ 84 กัปป์ก็จะบริสุทธิ์พ้นทุกข์ไปเอง ถ้ายังไม่ครบ ถึงจะทำบุญทำกุศลเท่าไร ก็ไม่อาจบริสุทธิ์ไปได้ แต่ถ้าถึงกำหนด 84 กัปป์ แม้จะทำบาปมากมาย ก็จะบริสุทธิ์ไปเอง"

พระราชาได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า
"ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านี้โง่เขลาจริงๆ ข้าพเจ้ามัวหลงเชื่อว่า ทำความดีแล้วจะไปสู่สุคติ อุตส่าห์พากเพียรบำเพ็ญกุศลกรรม บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า บุญไม่มี บาปไม่มี ผลกรรมใดๆ ไม่มีทั้งสิ้น บุคคลจะบริสุทธิ์เองเมื่อถึงกำหนดเวลา แม้แต่ การฟังธรรมจากท่านอาจารย์ก็หามีประโยชน์อันใดไม่ ข้าพเจ้าขอลาไปก่อนละ"

  เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระราชวัง พระเจ้าอังคติราชก็มีพระราชโองการว่า ต่อไปนี้พระองค์จะไม่ปฏิบัติราชกิจใดๆทั้งสิ้น เพราะการทั้งปวง ไม่มีประโยชน์ ไม่มีผลอันใด พระองค์จะแสวงหาความเพลิดเพลินในชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ อาทรร้อนใจกับผลบุญผลกรรมใดๆทั้งสิ้น จากนั้นก็เกิดเสียงเล่าลือไปทั้งพระนครว่า พระราชากลายเป็นมิจฉาทิฐิ คือ หลงผิด เชื่อคำของชีเปลือยคุณาชีวก บ้านเมืองย่อมจะถึงความเสื่อม หากพระราชาทรงมีพระดำริดังนั้น

   ความนี้ทราบไปถึงเจ้าหญิง รุจาราชกุมารี ทรงร้อนพระทัยเมื่อทราบว่า พระบิดาให้รื้อโรงทานทั้งสี่มุมเมือง จะไม่บริจาคทานอีกต่อไป ทั้งยังได้ กระทำการข่มเหงน้ำใจชาวเมืองมากมายหลายประการ ด้วยความที่ทรงเชื่อว่า บุญไม่มี บาปไม่มี บุคคลไปสู่สุคติเองเมื่อถึงเวลา

   เจ้าหญิงรุจาราชกุมารีจึงเข้าเฝ้าพระบิดา ทูลขอพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันเพื่อจะเอาไปทรงทำทาน พระบิดาเตือนว่า
"ลูกรัก ทานไม่มีประโยชน์ดอก ปรโลกไม่มี เจ้าจะไม่ได้ผลอะไรตอบแทน หากเจ้ายังถือศีลอดอาหารวันอุโบสถอยู่ ก็จงเลิกเสียเถิด ไม่มีผลดอกลูกรัก"

รุจาราชกุมารีพยายามกราบทูลเตือนสติพระบิดาว่า
"ข้าแต่พระชนก บุคคลกระทำบาปสั่งสมไว้ ถึงวันหนึ่งเมื่อผลบาปเพียบเข้า บุคคลนั้นก็จะต้องรับผลแห่งบาปที่ก่อ เหมือนเรือที่บรรทุกแม้ทีละน้อย เมื่อเต็มเพียบเข้าก็จะจมในที่สุดเหมือนกัน ธรรมดาใบไม้นั้นหากเอาไปหุ้มห่อของเน่าเหม็น ใบไม้นั้นก็จะเหม็นไปด้วย หากห่อของหอมใบไม้ นั้นก็จะหอม ปราชญ์จึงเลือกคบแต่คนดี หากคบคนชั่วก็จะพลอย แปดเปื้อน เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ย่อมทำให้แล่งศรแปดเปื้อนไปด้วย"

ราชกุมารีกราบทูลต่อว่า
"หม่อมฉันรำลึกได้ว่า ในชาติก่อนได้เคยเกิดเป็นบุตรช่างทาง ได้คบหา มิตรกับ คนชั่ว ก็พลอยกระทำแต่สิ่งที่ชั่วร้าย ครั้น ชาติต่อมาเกิดในตระกูลเศรษฐี มีมิตรดีจึงได้พลอย บำเพ็ญบุญบ้าง เมื่อตายไป ผลกรรมก็ตามมาทัน หม่อมฉันต้องไปทนทุกข์ทรมาณในนรกอยู่เป็นเวลาหลายชาติ หลายภพ ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องทน ทุกข์รำเค็ญมากมาย กว่าจะใช้หนี้กรรมนั้นหมด และผลบุญ เริ่มส่งผลจึงได้มาเกิดในที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อันผลบุญผลบาปย่อมติดตามเราไปทุกๆ ชาติ ไม่มีหยุด ย่อมได้รับผลตามกรรมที่ก่อไว้ทุกประการ ขอพระบิดาจงฟังคำหม่อมฉันเถิด"

พระราชามิได้เชื่อคำรุจาราชกุมารี ยังคงยึดมั่นตามที่ได้ฟังมาจากคุณาชีวก เจ้าหญิงทรงเป็นทุกข์ถึงผลที่ พระบิดาจะได้รับเมื่อสิ้นพระชนม์ จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า
"หากเทพยดาฟ้าดินมีอยู่ ขอได้โปรดมาช่วยเปลื้องความเห็นผิดของ พระบิดาด้วยเถิด จะได้บังเกิดสุขแก่ปวงชน"

  ขณะนั้น มีพรหมเทพองค์หนึ่งชื่อ นารท เป็นผู้มี ความกรุณาในสรรพสัตว์ มักอุปการะเกื้อกูลผู้อื่น อยู่เสมอ นารทพรหมเล็งเห็นความทุกข์ของ รุจาราชกุมารี และเล็งเห็นความเดือดร้อนอันจะเกิดแก่ประชาชน หากพระราชาทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเสด็จจากเทวโลกแปลงเป็นบรรพชิต เอาภาชนะทองใส่สาแหรกข้างหนึ่ง คนโทแก้วใส่สาแหรกอีกข้างหนึ่ง ใส่คานทานวางบนบ่าเหาะมาสู่ปราสาท พระเจ้าอิงคติราช มาลอยอยู่ตรงหน้าพระพักตร์ พระราชาทรงตกตะลึงตรัสถามว่า
"ข้าแต่ท่าน ผู้มีวรรณะงามราวจันทร์เพ็ญ ท่านมาจากไหน"

นารทพรหมตอบว่า
"อาตมาภาพมากจากเทวโลก มีนามว่า นารท"

พระราชาตรัสถามว่า
"เหตุใดท่าน จึงมีฤทธิ์ลอยอยู่ในอากาศได้เช่นนั้น น่าอัศจรรย์"

"อาตมาภาพบำเพ็ญคุณธรรม 4 ประการ ในชาติ ก่อนคือ สัจจะ ธรรมะ ทมะ และจาคะ จึงมีฤทธิ์เดช ไป ไหนได้ตามใจปรารถนา"

"ผลบุญมีด้วยหรือ ถ้าผลบุญมีจริงอย่างที่ท่านว่า ได้โปรดอธิบายให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด"

พระนารท พรหมจึงอธิบายว่า
"ผลบุญมีจริง ผลบาปก็มีจริง มีเทวดา มีบิดามารดา มีปรโลก มีทุกสิ่งทุกอย่างทั้งนั้น แต่เหล่าผู้งมงายหาได้รู้ไม่"

พระราชาตรัสว่า
"ถ้าปรโลกมีจริง ขอยืมเงินข้าพเจ้าสักห้าร้อยเถิด ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านในโลกหน้า"

พระนารทตอบว่า
"ถ้าท่านเป็นผู้ ประพฤติธรรมมากกว่าห้าร้อยเราก็ให้ท่านยืมได้ เพราะเรารู้ว่าผู้อยู่ใน ศีลธรรม ผู้ประพฤติกรรมดี เมื่อเสร็จจากธุระแล้ว ก็ย่อมนำเงินมาใช้คืนให้เอง แต่อย่างท่านนี้ตายไปแล้วก็จะต้องไปเกิดในนรก ใครเล่าจะตามไปทวงทรัพย์คืนจากท่านได้"

พระราชาไม่อาจตอบได้ จึงนิ่งอั้นอยู่ นารทพรหม ทูลว่า
"หากพระองค์ยังทรงมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ต้องไปสู่นรก ทนทุกขเวทนาสาหัส ในโลกหน้าพระองค์ก็จะต้องชดใช้ผลบาปที่ได้ก่อไว้ ในชาตินี้"

พระนารทได้โอกาสพรรณนาความทุกข์ ทรมานต่างๆ ในนรกให้พระราชาเกิดความสะพรึงกลัว เกิดความสยดสยองต่อบาป พระราชาได้ฟังคำพรรณนา ก็สลดพระทัยยิ่งนัก รู้พระองค์ว่าได้ดำเนินทางผิด จึงตรัสว่า
"ได้โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วยเถิด บัดนี้ ข้าพเจ้าเกิดความกลัวภัยในนรก ขอท่านจง เป็นแสงสว่างส่องทางให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดสอนธรรมะให้แก่ข้าพเจ้าผู้ได้หลงไปในทางผิด ขอจง บอกหนทางที่ถูกต้องแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด"

พระนารทพรหมฤษีจึงได้โอกาสตรัสสอนธรรมะ แก่พระราชาอังคติราช ทรงสอนให้พระราชตั้งมั่นในทาน ในศีล อันเป็นหนทางไปสู่สวรรค์เทวโลก แล้วจึงแสดงธรรมเปรียบร่างกายกับรถ เพื่อให้พระราชาทรงเห็นว่า รถที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดี อันถูกต้องแล่นไปในทางที่เรียบรื่น มีสติเป็นประดุจปฏัก มีความเพียรเป็นบังเหียน และมีปัญญาเป็นห้ามล้อ รถอันประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดีนั้นก็จะแล่นไปในทางที่ถูกต้อง โดยปราศจากภัยอันตราย พระราชาอังคติราชทรงละมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ละหนทางบาป นารถพรหมฤษีจึงถวายโอวาทว่า
"ขอพระองค์จะละบาปมิต คบแต่กัลยาณมิตร อย่าได้ทรงประมาทเลย"

ในระหว่างนั้น พระนารทพรหมฤษีได้อันตรธานหายไป พระราชาก็ทรงตั้งมั่นในศีล ในธรรม ทรงเริ่มทำบุญทำทาน ทรงเลือกคบแต่ผู้ที่จะ นำไปในทางที่ถูกที่ควร เมื่อพระราชาทรงตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรม ประชาชนก็มีความสุข บ้านเมืองสงบ ร่มเย็น สมดังที่พระนารทพรหมฤษีทรงกล่าวว่า
" จงละบาปมิตร จงคบกัลยาณมิตร จงทำบุญละจากบาป ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด "

 

 

คติธรรม : บำเพ็ญอุเบกขาบารมี
"สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำผิดบาปย่อมได้ชั่วช้าสามานย์เป็นผลตอบ และการคบมิตรสหายนั้นก็จะส่งผลดีเลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย"




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย