กิจกรรมธรรมานุบาล ร.ร.ฉะเชิงเทราปัญญานุกูล

 dhammanews     28 มิ.ย. 2555


โอกาสและการยอมรับ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กพิการทางสติปัญญา ด้วยบางทีมันมีที่มาจากพฤติกรรมคนที่เรียกตัวเองว่า ปกติ



ทำให้เด็กบกพร่องทางสติปัญญา ถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากคนรอบข้าง นอกจากนี้ ในการสงเคราะห์แต่ละครั้ง เช่น การเลี้ยงอาหารที่ทุกคณะก็อยากจะเห็นของที่ตัวเองบริจาคหมดไป ไม่ว่าจะเป็นอาหาร-เครื่องดื่ม ขนม แต่บางครั้งมันก็มากไปสำหรับหนึ่งมื้อ ครั้นครูแจ้งขออนุญาตเจ้าภาพเหลือเก็บไว้กินมื้อหน้า คณะผู้บริจาคก็ไม่ค่อยจะยอม ด้วยเชื่อว่าเป็นการทำบุญ อยากจะให้เด็กกินเต็มที่ นั่นทำให้ระเบียบวินัยของเด็กเสียไป



ครูโต้ง พรมกุล โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล สรุปมุมปัญหาที่ว่าด้วยประสบการณ์ในโรงเรียนเด็กพิการทางสติปัญญา ถูกเอาใจมาก นิสัยก็จะเสีย อีกอย่างก็ไม่การันตีได้ว่าจะมีผู้มา บริจาคต่อเนื่อง ดังนั้นควรจะสร้างลักษณะนิสัยที่เหมาะสม



ระบบการสอนในมิติปกติในโรงเรียนที่คัดลอกจากหลักการแพทย์และการศึกษา เด็กพิการจึงต้องการ ตัวช่วย ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการใช้มิติศาสนา ในระดับ การฝึกสติ เจริญภาวนา รวมไปถึงการปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานมาช่วย



โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล จึงเฝ้าติดตามผลงานของ เครือข่ายพุทธิกา มาตลอด ด้วยเห็นพ้องถึงความสำคัญกับการประยุกต์หลักศาสนาว่าด้วยการมีสติ การสร้างสุขภาวะให้รอบด้าน พร้อมกับเป็นอีกหนึ่งสมาชิกโครงการ สุขแท้ด้วยปัญญา ที่พุทธิการ่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



การสร้างวินัยและหลักการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกับสังคมอื่นให้ได้นั้น ถูกออกแบบเป็นกิจกรรมตั้งแต่ปีแรก (พ.ศ.2552) ไล่ตั้งแต่การสร้างแนวคิดการเสียสละผ่านกิจกรรมเพาะบ่มต้นกล้าคุณธรรม ด้วยการพาเด็กในโรงเรียนซึ่งมีอาการทางสมองหลายระดับไปเป็นอาสาสมัครที่วัดในชุมชน โดยมีภาระลดหลั่นตามคุณภาพ ทั้งการจัดรองเท้า การเทอาหารเลี้ยงพระ การล้างจาน การเก็บขยะ ฯลฯ



มันคือการสร้างการยอมรับให้คนในชุมชน ผ่านการรับรองจากพระที่เปรียบเสมือนผู้นำความคิด ผู้ได้รับการนับถือในสังคม ซึ่งเมื่อพระให้โอกาสเด็กได้พิสูจน์ตัวเองและทำงานได้ดี ได้รับคำชม คนในชุมชนก็จะยอมรับและเมตตาเด็กเหล่านี้มากขึ้น ครูวิวพัชรีวรรณ ตันกุระ โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล และอีกหนึ่งสาวกในแนวคิด สุขแท้ด้วยปัญญา บอก





ถัดจากหนแรก กิจกรรมที่โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล ยังออกแบบและเพิ่มความเข้มข้นเรื่อยมา ในปีถัดไปขอบข่ายของการทำความดี เพิ่มเติมออกจากวัดและโรงเรียน ด้วยการมุ่งไปที่บ้านพักคนชราในจังหวัด ทั้งการเป็นอาสาสมัครดูแลทุกข์สุขประหนึ่งบุตรหลาน โดยที่แต่ละย่างก้าวการปัดกวาดเช็ดถูที่บ้านพักคนชรา ล้วนสร้างจิตอาสาสาธารณะ ว่าด้วยการบำเพ็ญประโยชน์



ยังไม่นับผลงานการจัดค่ายอบรมเด็กนักเรียนแกนนำ ที่มีผลความประพฤติไม่ต่างจากเด็กปกติ แม้จะเป็นรองในมุมด้านกายภาพ แต่ผลงานไม่เป็นรองใคร



ส่วนปีพ.ศ.2555 พวกเขาก็พร้อมจะต่อยอดแนวทางเหล่านั้นให้เข้มข้นมากขึ้น ผ่านการสร้างนวัตกรรม ผ่าน กิจกรรมห้องธรรมานุบาล ที่ใช้หลักธรรมะ ผนวกเข้ากับหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์



เน้นการตอบสนองการฝึกเจริญภาวนาสติแก่เด็กพิการทั้งปัญญาที่อยู่นิ่งได้ยาก โดยการใช้อุปกรณ์การเดิน ทั้งการเดินแบบปกติ และเดินแบบก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง เดินสลับซ้ายขวา ซึ่งแต่ละช่วงเดินย่อมหมายถึงการตั้งสติ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการฝึกสมาธิในระดับเบื้องต้นผ่านการเดินจงกรมแบบผู้มีร่างกายปกติ



นายชัชนันท์ ภักดีศุภผล หรือ อั๋น นักเรียนชั้น ม.3 ที่ร่วมกิจกรรม สุขแท้ด้วยปัญญา แต่ปีแรก และมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ลงความเห็นว่า ห้องที่เงียบ กระทั่งมีอุณหภูมิความเย็นกำลังดีเช่นนี้สร้างความสนใจให้เขาฝึกนั่งสมาธิมากกว่าในห้องเรียน



ส่วนคำถามถึงสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมนั้น พอจับใจความได้ว่า จะเป็นเข้าวัด หรือฝึกสมาธิ ล้วนช่วยฝึกฝนช่วยให้เขาอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านได้อย่างปกติ สามารถช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่ใครๆ เขาทำได้



ผมไปเยี่ยมผู้สูงอายุก็คิดถึงยาย คิดถึงแม่ เห็นเขาสอนให้ทำกับคนแก่ดีๆ ผมก็คิดว่าจะกลับไปทำบ้าง หรือครูพยายามสอนเรื่องระเบียบวินัย ทั้งการกิน การเก็บของให้เป็นระเบียบ ผมก็พยายามจะทำ นายชัชนันท์กล่าว



เป็นการสร้างการมีวินัยในรั้วโรงเรียน ก่อนขยายไปสู่ความสุขแก่คนรอบข้าง

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

3,040






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย