กรรม ชำระล้างได้อย่างไร ?
"พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)"
๓) กรรม ชำระล้างได้อย่างไร ? หน้า ๑๔๓-๑๔๖
มีพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษนี้ทำกรรมไว้อย่างไร ๆ เขาย่อมได้เสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ”
เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้ การครองชีวิตประเสริฐ(พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ (คือไม่มีประโยชน์อะไร) เป็นอันมองไม่เห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้เลย”
“แต่ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษนี้ทำกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาอย่างไร ๆ เขาย่อมได้เสวยวิบากของกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ” เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้ การครองชีวิตประเสริฐ(พรหมจรรย์) จึงมีได้ (คือสำเร็จประโยชน์) เป็นอันเห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้
“ภิกษุทั้งหลาย สำหรับบางคน กรรมชั่วที่ทำไว้เพียงเล็กน้อย ก็นำเขาไปนรกได้
แต่สำหรับบางคนกรรมชั่วที่ทำไว้เล็กน้อยอย่างเดียวนั่นแหละ ให้ผลแค่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วย ปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น”
“คนประเภทไหน กรรมชั่วที่ทำไว้เพียงเล็กน้อย ก็นำเขาไปนรกได้? คือ คนบางคนเป็นผู้ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก มีปรกติอยู่เป็นทุกข์เพราะวิบากเล็ก ๆ น้อย ๆ บุคคลประเภทนี้ กรรมชั่วที่ทำไว้เพียงเล็กน้อย ก็นำเขาไปนรกได้ (เหมือนใส่ก้อนเกลือในขันน้ำน้อย)”
“คนประเภทไหน กรรมชั่วที่ทำไว้เล็กน้อยอย่างเดียวกันนั่นแหละ ให้ผลแค่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วย ปรากฏแค่ที่มาก ๆ เท่านั้น? คือ คนบางคนเป็นผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญามีคุณไม่น้อย เป็นมหาตมะ มีธรรมเครื่องอยู่หาประมาณมิได้สำหรับบุคคลประเภทนี้ กรรมชั่วที่ทำไว้เล็กน้อยเช่นเดียวกันนั้นแหละ ให้ผลแค่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปราฏด้วย ปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น (เหมือนใส่ก้อนเกลือในแม่น้ำ)
“ดูกรนายคามณี ศาสดาบางท่าน มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า.....
ผู้ที่ฆ่าสัตว์ต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด
ผู้ที่ลักทรัพย์ต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด
ผู้ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร ต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด
ผู้ที่พูดเท็จต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมดสาวกที่เสื่อมใสในศาสดานั้น คิดว่า “ศาสดาของเรามีวาทะ มีทิฏฐิว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ ต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด” เขาจึงได้ทิฏฐิขึ้นมาว่า “สัตว์ที่เราฆ่าไปแล้วก็มี เราก็ต้องไปอบาย ตกนรกด้วย เขาไม่ละวาจานั้นไม่สละทิฏฐินั้นเสีย ก็ย่อมอยู่ในนรกเหมือนถูกจับมาใส่ไว้...”
“ส่วนตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติในโลก….พระองค์ทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาต...อทินนาทาน...กาเมสุมิจฉาจาร...มุสาวาท โดยเอนกปริยาย และตรัสว่า
“ท่านทั้งหลายจงงดเว้นเสียเถิดจากปาณาติบาต... อทินนาทาน...กาเมสุมิจฉาจาร...มุสาวาท” สาวกมีความเสื่อมใสในพระศาสดานั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาต ฯลฯ โดยอเนกปริยายและตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงงดเว้นเสียเถิดจากปาณาติบาต ฯลฯ “ก็สัตว์ที่เราฆ่าเสียแล้วมีมากถึงขนาดนั้น ๆ การที่เราฆ่าสัตว์ไปเสียมาก ๆ ถึงขนาดนั้น ๆ ไม่ดี ไม่งามเลย เราจะกลายเป็นผู้เดือนร้อนใจเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัยแท้และเราก็จักไม่ชื่อว่าไม่ได้กระทำกรรมชั่ว” เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปาณาติบาตนั้นเสีย และเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตต่อไปด้วยเป็นอันว่า เขาละกรรมชั่วนั้นได้ด้วยการกระทำอย่างนี้.......”
“เขาละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ละมุสาวาท...ปิสุณาวาจา... ผรุสวาจา.... สัมผัปปลาปะ...อภิชฌา....พยาบาท....มิจฉาทิฏฐิ แล้วเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิเขาผู้เป็นอริยสาวก มีใจปราศจากอภิชฌา(ความละโมบ) ปราศจากพยาบาท(ความคิดเบียดเบียน) ไม่ลุ่มหลง มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น อยู่ด้วยใจที่ประกอบด้วยเมตตาปกแผ่ไปทิศ ๑... ทิศ ๒... ทิศ ๓....ทิศ ๔ ครบถ้วน ทั้งสูง ต่ำ กว้างขวาง ทั่วทั้งโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ยิ่งใหญ่ ไม่มีประมาณไร้เวร ไร้พยาบาท ฯลฯ เมื่อเจริญเมตตาเจโตวิมุตติ ทำให้มากอย่างนี้ กรรมใดที่ทำไว้พอประมาณ กรรมนั้นจักไม่เหลือ จะไม่คงอยู่ในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น.....
พุทธพจน์ในข้อ ๓ นี้ นำมาแสดงไว้เพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม ให้มีการศึกษาโดยละเอียด เป็นการป้องกันไม่ให้ลงความเห็นตัดสินความหมายและเนื้อหาของหลักกรรมง่ายเกินไป แต่ก็ยังเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถนำมารวมไว้ได้ทั้งหมด เพราะจะกินเนื้อที่มากเกินไป
**************************************************************************************