ปุจฉา - วิสัชนา
" พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) "
จากหนังสือกรรมกับโรคพันธุกรรมในทัศนะพระพุทธศาสนา
ปุจฉา
เราน่าจะลิขิตชีวิตตัวเองได้
วิสัชนา
ก็มีส่วน คือในระยะยาวเราจะเป็นผู้มีส่วนลิขิตได้มากที่สุด แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกด้วย การเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของเราอีกว่าจะไปมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมได้มากแค่ไหนหรือว่ายอมให้อิทธิพลสิ่งแวดล้อมมาครอบงำเรา อันนี้ก็อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะแข็งกว่า ทางพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องการพัฒนาตัวเรา เพราะเมื่อเราพัฒนาตัวเรา เราก็ยิ่งมีความสามารถในการไปมีอิทธิพลต่อสิ่งข้างนอกได้ หรือว่าอย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้ถูกครอบงำได้ดีขึ้น
ในทางพุทธศาสนาไม่ให้ยอม หมายความว่าตัวนั้นเป็นตัวเก่า ซึ่งเป็นผลได้เท่าที่เรามีและเป็นทุนเท่าที่เราจะเอามาใช้หรือมาจัดการได้ เมื่อเราได้ทุนมาแค่นี้ เราจะใช้ทุนเท่าเดิมหรือว่าเราจะเพิ่มทุนก็เป็นเรื่องของเรา เราจะเพิ่มทุนไหม ถ้าเราไม่ยอมเพิ่มทุนเราจะใช้แต่ทุนเก่า ก็มีแต่จะหมดไป นั่นคือการกระทำที่เรียกว่าประมาท กลายเป็นว่าเราทำกรรมเพิ่มเข้าไปอีกคือความประมาท นี่คือกรรมของเรา คือเราจะต้องรับผลเป็นกรรมฝ่ายไม่ดี ถ้าเราไม่ประมาทเราก็แก้ไข ที่มันร้ายแรงก็กลายเป็นผ่อนหนักเป็นเบา ส่วนที่ดีน้อยอยู่แล้ว ก็ดีมากขึ้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปุจฉา
กรรมดีที่เราปฏิบัติส่งผลถึงคนข้างเคียงได้ไหม ?
วิสัชนา
จะส่งผลได้หรือไม่ได้และได้มากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นต่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก และส่งผลโดยตรงก็มี โดยอ้อมก็มีกรรมก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในบรรดาปัจจัยทั้งหลาย เมื่อคนทำกรรม การกระทำของเขาก็แสดงออกต่อบุคคลบ้าง ต่อวัตถุสิ่งของในสภาพแวดล้อมบ้าง เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลทางกฎธรรมชาติอื่น เช่นทางอุตุนิยาม เป็นต้น ความเป็นไปทางด้านอุตุนิยมก็ส่งผลมาถึงคนอื่นได้ในลักษณะต่างๆ ซึ่งบางส่วนก็ขึ้นต่อผู้รับด้วย และตัวบุคคลที่ทำกรรมนั้น ก็อาจมีเจตนากระทำต่อผู้อื่นในลักษณะที่เป็นกัลยาณมิตรหรือปาปมิตร เช่นโดยการส่งอิทธพลชักจูง โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ อันนี้ก็อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งก็คือตัวเขาเองจะทำของเขาพระท่านเรียกว่า อนุโมทนา ทำไมคนหนึ่งทำกุศลแล้วอีกคนหนึ่งกลับได้บุญ เพราะผ่านการอนุโมทนาก็คือผ่านการยอมรับชื่นชมยินดี ด้วยการที่ชื่นชมยินดียอมรับก็เลยทำให้ได้รับผลไปด้วยได้ อันนี้เป็นด้านของปฏิกิริยาต่อกัน ที่คนหนึ่งได้รับการแสดงออกจากอีกฝ่ายหนึ่งแล้วมีท่าทีอย่างไรก็จะมีผลต่อตัวเขาเองไปด้วย
เรื่องของกรรมส่งผลไปได้มากมาย กรรมที่เริ่มจากบุคคลหนึ่งอาจเป็นปัจจัยส่งผลตามระบบความสัมพันธ์ต่อทอดออกไปจนทำให้สังคมทั้งสังคมเคลื่อนไหวไปอย่างใดอย่างหนึ่งในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่พูดโดยสรุปก็คือเรื่องของความเป็นไปในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปุจฉา
ถ้าเราเสริมบุญขึ้นไปเรื่อยๆ กรรมจะตามไม่ทันจริงไหม ?
วิสัชนา
มีอุปมาอันหนึ่ง เหมือนกับว่ามีแก้วน้ำ แล้วในแก้วน้ำนี้มีน้ำสีกับน้ำใสสองอย่าง ตอนแรกใส่น้ำสีเข้าไปสีก็จะเข้มชัด มีอิทธิพลมาครองงำให้เกิดสีของน้ำขึ้น ที่นี้เรารู้ตระหนักถึงภัยว่าตอนนี้สีนี้มันเข้ม สีนี้มันแดง สีนี้มันไม่บริสุทธิ์ เราไม่ยอมเพิ่ม เราใส่แต่น้ำใสๆ จนกระทั่งน้ำสีแดงนี้นหมดอิทธิพลไปเลย เหมือนไม่มี ที่จริงน้ำสีแดงไม่ได้หายไปไหน ก็ยังอยุ้ เหมือนกับเราทำกรรมดีเพิ่มเข้าไปจนกระทั่งกรรมไม่ดีนั้นแม้มีอยู่ก็ไม่มีอิทธิพล
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปุจฉา
ปัญหาอย่างหนึ่งที่แพทย์พบก็คือ คนที่มีลูกพิการหรือเป็นโรคแล้ว ถ้ายอมรับว่าเป็นเรื่องของกรรมก็อายที่จะไปแสดงตัวหรือไปขอความช่วยเหลือให้เป็นที่ประจักษ์ของคนอื่น พอมีลูกคนใหม่ก็พิการอย่างนี้อีกความเชื่อเรื่องนี้จะแก้อย่างไร ?
วิสัชนา
จุดที่พลาดอยู่ตรงที่เขาอายว่าเป็น “โรคของเวรกรรม” ต้องมองว่ามนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่มีกรรมดีกรรมชั่วปน ๆ กันไป มนุษย์เป็นสัตว์ที่แปลกจากภพอื่น ๆ คือเป็นภพที่มีความดีความชั่วปน ๆ กันไป บางคนบกพร่องด้านนี้อาจจะไปดีด้านโน้น เราบกพร่องด้านนี้เราอาจจะไปดีด้านอื่น
ในทางพุทธศาสนาถือหลักการฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น ถ้ามีอะไรที่เราจะแก้ไขให้ดีขึ้นเราต้องทำ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ แก้ไขได้ ปรับปรุงได้ ฉะนั้นหลักการก็คือ
๑. เราอาจจะมีจุดอ่อนแง่นี้แต่ไปดีแง่โน้น คนอื่นเขามีแง่ดีอันนี้แต่เขาก็ไปมีจุดอ่อนอันโน้น
๒. แต่ละคนมีจุดอ่อนจุดด้อยคนละอย่าง ส่วนดีก็รักษาพัฒนายิ่งขึ้นไป ส่วนไหนบกพร่องก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดี เพราะฉะนั้นยิ่งมีวีธีการแก้ไขเรายิ่งต้องแสวงหา ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเอง ไม่ควรจะไปตัดโอกาส
๓. ถ้าใครไม่พัฒนาตัวเอง เช่น ยอมรับว่าผลกรรมเราทำมาเลยเป็นอย่างนี้ แล้วไม่แก้ไขปรับปรุงท่านถือว่าทำกรรมชั่วใหม่ กรรมชั่วนี้คือความประมาท เมื่อเรารู้ว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่องนี้ ปล่อยทิ้งไว้แล้วไม่แก้ไข คือ ความประมาท
ความประมาทเป็นอกุศกรรม คือทำกรรมชั่ว ถ้าเคยทำกรรมชั่วไม่ดีมาก่อนแล้ว รับผลของกรรมเก่าที่ไม่ดีแล้ว ยังมาทำกรรมชั่วซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก นี่คือความประมาท ถ้าเราทำกรรมมาไม่ดีแล้วผิดพลาด ก็ให้รู้ว่าที่ผ่านมามันไม่ดี ควรตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำกรรมใหม่ให้ดี ให้กรรมเก่านั้นเป็นบทเรียนไป ไม่ควรจะไปประมาททำกรรมชั่วซ้ำซ้อนเข้าไปอีก
กรรมชั่วที่คนมองไม่เห็นคือความประมาท พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนไว้ ถือว่าเป็นอกุศลสำคัญ ความประมาทประกอบด้วย ๑ ปัญญาไม่มี เป็นโมหะ ๒. ขาดสติ สติไม่ใช้ ไม่ระลึกว่าอะไรบกพร่องอะไรเสียหายแล้วจะได้แก้ไข ขาดสติขาดปัญญาหมดเลย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปุจฉา
บางคนดื่มเหล้าสูบบุหรี่จัดแล้วเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น เมื่อแพทย์แนะนำว่าควรงดเสีย เขาก็บอกว่าถ้าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คล้าย ๆ กับมีกรรมมาแต่ชาติก่อน ถ้าจะต้องเป็นอะไรไปเขาก็ยอมรับ แต่ถ้าหากเขาไม่มีกรรมเขาจะดื่มเหล้าสูบบุหรี่ต่อนานแค่ไหนก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น
วิสัชนา
เขาถือเรื่องกรรมผิดตั้งหลายชั้น หลักกรรมไม่ใช่ “กรรมเก่า”
กรรม ก็คือ กรรม ไม่มีคำว่ากรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมอดีต กรรมปัจจุบัน กรรมอนาคต กรรมเก่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกรรม
ในพระพุทธศาสนาถ้าพูดว่า “กรรม” ไม่ใช่กรรมเก่า ลักธิกรรมเก่าก็มีลักธิหนึ่ง คือลัทธินิครนถ์ เป็นลัทธิมิจฉาทิฐิ ซึ่งพระพุทธเจ้าติเตียนไว้ ลัทธิกรรมเก่าคือถือว่าอะไร ๆ ก็เป็นเพราะกรรมเก่าไปหมดทั้งนั้น
ลัทธิ ๓ ลัทธิที่ผิดหลักกรรมพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน อภิธรรมก็บอก พระสูตรก็บอก คือ
๑. ลัทธิปุพเพกตเหตุ (ปุพเพกตวาท) ลัทธิที่ถือว่าอะไร ๆ ก็เป็นเพราะกรรมเก่าที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน
๒. ลัทธิอิสรนิมมานเหตุ (อิศวรนิรมิตวาท) อะไร ๆ ก็เป็นเพราะพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาล
๓. ลัทธิอเหตุปัจจยะ (อเหตุวาท) ลัทธิที่ถือว่าอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นแล้วแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย แล้วแต่โชค
สามลัทธินี้ผิดหมดเลย
คนสูบบุหรี่ที่บอกว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แล้วแต่กรรมเก่านั้นตรงกับลัทธินิครนถ์ชัดเต็มที่เลยทีเดียว ถ้าถือหลักกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา จะต้องสร้างผลดีด้วยการเพียรพยายามทำสิ่งที่ดี ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น (หลักกรรมและหลักไตรสิกขา)