อานิสงส์สังฆบูชา | หลวงพ่อฤษีลิงดำ



อานิสงส์สังฆบูชา

พระสงฆ์นี้ หมายเฉพาะพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น อันพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง เป็น พระอริยสงฆ์ อีกพวกหนึ่ง เป็น พระสมมุติสงฆ์ พระอริยสงฆ์นั้น ได้แก่ บุคคล ๔ คู่ ๘ จำพวก คือ พระผู้ปฏิบัติในโสตาปัตติมรรค , พระผู้สำเร็จโสตาปัตติผล , พระผู้ปฏิบัติในสกทาคามิมรรค , พระผู้สำเร็จสกทาคามิผล , พระผู้ปฏิบัติในอนาคามิมรรค , พระผู้สำเร็จอนาคามิผล , พระผู้ปฏิบัติในอรหัตตมรรค , พระผู้สำเร็จอรหัตตผล พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระตถาคตเจ้านั้น ประเสริฐกว่าสงฆ์และคณะทั้งปวง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แก่ บุคคล ๔ จำพวก ๘ จำพวก บุคคลเหล่าใดมีความเคารพเลื่อมใสในพระสงฆ์พวกนี้ บุคคลเหล่านั้น ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เลื่อมใสในผู้ล้ำเลิศ ย่อมได้รับผลอันล้ำเลิศจากการนอบน้อมบูชาพระสงฆ์ผู้ล้ำเลิศ

พระอริยสงฆ์ ๔ คู่ ๘ จำพวก เป็นผู้ล้ำเลิศด้วยข้อปฏิบัติอันดีงามดังนี้ , สุปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติเพื่อความสิ้นแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อวัตถุประสงค์อื่น , อุชุปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ปฏิบัติให้มีความตรงทั้งทางกาย วาจา ใจ เพื่อให้สิ้น กิเลส ตัณหา อุปาทาน มุ่งตรงต่อพระนิพพาน , ญายะปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมอันควรรู้ คือปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่ง โลกุตตรธรรม ๙ อันได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ , สามีจิปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติอันสมควรแล้ว คือ ปฏิบัติสมควรแก่พระนิพพาน เพราะปฏิบัติถูกต้องเป็นไปตามกระแสแห่งพระพุทธฏีกาเสมอไป เพราะฉะนั้น พระอริยสงฆ์ทุกๆท่านนั้น อาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาคำนับ , ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ , ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน คือของที่จัดหามาให้ด้วยความเคารพ , อัญชะลีกะระณีโย เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ของบุคคลทั่วไป , อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันยอดยิ่งของโลก เพราะเมื่อมนุษย์และเทวดา บำเพ็ญบุญบารมีกับท่านเหล่านี้ อานิสงส์ย่อมมากล้น เหตุเพราะพระอริยสงฆ์สาวกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ แม้พระเสขะ ๓ จำพวกยังมีกิเลสอยู่ แต่ทุเลาเบาบางกว่าปุถุชนเป็นอย่างมาก

บุญบารมีที่ทำกับท่านที่มีดวงจิตอันบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส ย่อมให้ผลอันไพบูลย์ เพราะเป็นนาบุญอันยอดยิ่ง เปรียบดังนาที่ดี มีดินดี ดินไม่เค็ม ดินไม่แข็ง ไม่มีกรวดมาก มีทางน้ำไหลเข้า-ออก มีคันนา ฯลฯ ทำการหว่านเมล็ดพันธุ์อะไร ก็เจริญงอกงามให้ผลผลิตที่ดี ต่างจากการทำบุญกับปุถุชนผู้มักมากด้วยกิเลส ผลตอบแทนนั้นย่อมได้น้อย ดุจดังหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในนามี่ไม่ดี เช่นนาที่ ดินแข็งมาก ดินมีกรวดมาก ดินเค็ม ไม่มีทางน้ำไหลเข้า-ออก ฯลฯ เมล็ดพันธุ์ก็ไม่เจริญงอกงาม ได้ผลผลิตน้อย ดังนั้นแล้วพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พึงใช้สติปัญญาพิจารณาสั่งสมบุญบารมี ในเขตนาบุญนากุศลอันประเสริฐ ดุจท่านอินทกะเทพบุรุษ

เรื่องมีว่า เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระประทีปแก้วของเราทั้งหลาย ได้เสด็จไปประทับ ณ พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์โปรดพระพุทธมารดานั้น เทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลได้มาห้อมล้อมองค์สมเด็จพระประทีปแก้วเพื่อฟังธรรม ส่วนพระพุทธมารดาได้เสด็จมาจากดุสิตสวรรค์ มาประทับยังด้านขวาของพระพุทธองค์ ท่านอินทกะเทพบุรุษก็ประทับทางด้านขวาด้วยเช่นกัน ท่านอังกุระเทพบุรุษได้ประทับยังด้านซ้ายขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ครั้นเทวดาชั้นผู้ใหญ่ผู้ทรงศักดาได้เข้ามาประชุมกันแล้ว ท่านอังกุระเทพบุรุษจำเป็นต้องถอยร่นออกไปจากที่เดิมถึง ๑๒ โยชน์ ส่วนท่านอินทกะเทพบุรุษนั้นยังประทับอยู่ในที่เดิมข้างขวาของพระพุทธองค์ไม่ถอยไปไหน

องค์สมเด็จพระพุทธชินสีห์ทรงเล็งพระเนตรมองเทวดาทั้งสองท่านนั้น ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะทรงแสดงให้ทราบว่า ทานที่ถวายแก่พระอริยสงฆ์ในพระบวรพุทธศาสนาของพระองค์มีอานุภาพมากเพียงใด จึงทรงตรัสถามขึ้นว่า “ดูก่อนอังกุระเทพบุรุษ เมื่อชาติก่อนเธอได้ตั้งเตาหุงข้าวทำกับข้าว ทำทานเป็นรางยาวไปถึง ๑๒ โยชน์ เพื่อให้ทานแก่คนทั้งปวงไม่เลือกหน้า ในเวลาที่มนุษย์มีอายุถึงหมื่นปี เธอทำทานจนตลอดอายุขัย เมื่อเธอได้มาอยู่ในที่ประชุมของเรา เหตุใดเธอจึงต้องถอยร่นไปไกลถึง ๑๒ โยชน์” พระสุระเสียงอันเป็นทิพย์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถามนี้ดังไกลลงมาถึงพื้นพิภพ ท่านอังกุระเทพบุรุษจึงได้กราบทูลด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า “ไม่มีประโยชน์อันใดกับทานของข้าพระองค์เลยพระเจ้าข้า เพราะทานของข้าพระองค์ ว่างเปล่าจากผู้ควรแก่ทักษิณาทาน คือ ผู้มีศีลอันยิ่ง อินทกะเทพบุรุษนี้ ได้ให้ทานแต่น้อยครั้ง เพียงถวายสังฆทานโดยมีพระอนุรุทธมหาเถรเจ้า เป็นผู้รับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เขาก็รุ่งเรืองกว่าข้าพระองค์ ดุจดวงจันทรามีความสุกสกาวกว่าหมู่ดาวทั้งหลายฉันนั้น” องค์สมเด็จพระผู้ทรงสวัสดิโสภาคย์จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า “นี่แน่ะ อังกุระ ธรรมดาการให้ทาน บุคคลควรเลือกให้แก่ผู้ที่ควรแก่ทักษิณาทาน ดุจพืชที่หว่านลงในนาที่ดี ย่อมให้ผลที่มาก เธอไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทานของเธอจึงไม่มีผลมาก นี่แน่ะ อังกุระ สัตว์โลกย่อมมี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องทำให้เสียฉันใด นาทั้งหลายก็มีหญ้าเป็นเครื่องทำให้เสียฉันนั้น เพราะฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ที่หนาแน่นไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติเพื่อให้สิ้นซึ่ง ราคะ โทสะ โมหะ จึงมีผลน้อย ส่วนทานที่ให้แก่ผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ หรือผู้ปฏิบัติเพื่อให้สิ้นจาก ราคะ โทสะ โมหะ จึงมีผลมาก”
อานิสงส์ของสังฆบูชาจึงมีดังนี้

สุดท้ายนี้ ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านปราศจากความทุกข์ทั้งปวง ให้มีความสุขสมหวังยิ่งๆขึ้นไป เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ในทุกกาลทุกเมื่อเทอญ

หลวงพ่อฤษีลิงดำ
   

ที่มา : -

5,218







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย