ผู้เห็นผิด(หนังสือกรรมลิขิต)



ผู้เห็นผิด

ในอดีตกาล พระเจ้าอังคติราชเสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลา คืนหนึ่ง พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ได้เสด็จไปหาคุณาชีวกคุณาชีวกได้แสดงลัทธิของตนว่า บุญไม่มี ทานเป็นของไม่มีผล ทานคนโง่บัญญัติไว้ คนโง่ที่สำคัญตัวว่าฉลาดให้ทาน ส่วนคนฉลาดคอยรับทาน แล้วพรรณนาถึงบาปที่ไม่มีผลว่า
รูปกายเป็นที่รวมของดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์และชีวิต รวม ๗ ประการ เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญ การตัดศีรษะผู้อื่นด้วยดาบอันคม คมดาบย่อมผ่านเข้าไปในระหว่างรูปกายทั้ง ๗ ประการ จึงไม่ใช่การตัดร่างกายคนอื่น และไม่ เป็นบาป สัตว์ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ๘๔ มหากัปย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงเวลา แม้จะกระทำความดีมากมายก็บริสุทธิ์ไม่ได้
อลาตเสนาบดีชอบใจคำพูดของคุณาชีวก จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าระลึกชาติได้หนึ่งชาติ คือในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในเมืองพาราณสี เป็นนายพรานฆ่าโค ได้ฆ่าสัตว์เป็นอันมาก ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดในตระกูลเสนาบดีนี้ บาปไม่มีผลแน่ ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปนรก
ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระทศพลทรงพระนามว่ากัสสปะ อลาตเสนาบดีบูชาพระเจดีย์ด้วยพวงดอกอังกาบ เมื่อเขาตาย ผลแห่งบาปกรรมอย่างหนึ่งส่งให้ไปเกิดในตระกูลฆ่าโค ได้กระทำบาปกรรมเป็นอันมาก ครั้นในเวลาที่เขาจะตาย บุญกรรมที่บูชาพระเจดีย์ได้โอกาส เขาจึงบังเกิดในตระกูลเสนาบดีได้รับสมบัติเช่นนี้ เมื่อระลึกชาติได้เพียงชาติเดียว ไม่อาจระลึกถึงกรรมอื่นในอดีต จึงสนับสนุนวาทะของคุณาชีวก ด้วยสำคัญผิดว่า เราได้กระทำกรรมคือการฆ่าโคจึงบังเกิดในที่นี้
ขณะนั้น คนเข็ญใจผู้หนึ่งชื่อวีชกะได้เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก ได้ฟังคำของคุณาชีวกและอลาตเสนาบดี ก็ร้องไห้น้ำตาไหล
พระเจ้าอังคติราชจึงตรัสถามเหตุที่ร้องไห้
นายวีชกะกราบทูลว่า ในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองสาเกต เป็นผู้มีคุณธรรม ยินดีในการบริจาคทาน มีการงานอันสะอาด ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบาปกรรมที่ตนทำไม่ได้เลย ตายจากชาตินั้นมาเกิดในครรภ์ของนางทาสีในมิถิลานครนี้ แม้จะยากจนก็ตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ ได้ให้ทาน รักษาศีล ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์และไม่ได้ลักทรัพย์เลย กรรมดีที่ประพฤติคงไร้ผล ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์ ข้าพระพุทธเจ้ากำแต่ความปราชัยไว้ เหมือนนักเลงผู้ไม่ได้ฝึกหัด ส่วนอลาตเสนาบดีย่อมกำแต่ชัยชนะไว้ ดังนักเลงผู้ชำนาญการพนัน ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นโอกาสแห่งสุคติเลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำของคุณาชีวกแล้วจึงร้องไห้
ดังได้สดับมา ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ นายวีชกะเกิดเป็นนายโคบาลแสวงหาโคที่หายไปในป่า ถูกภิกษุรูปหนึ่งผู้หลงทางถามถึงหนทาง ได้นิ่งเสีย ถูกท่านถามอีก ก็โกรธ จึงด่าภิกษุรูปนั้น บาปกรรมไม่ได้ให้ผลในชาตินั้น เมื่อเวลาตาย เพราะผลแห่งกุศลกรรมอย่างหนึ่ง เขาจึงเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองสาเกต ได้ทำบุญ มีทาน เป็นต้น เมื่อเขาตายจากอัตภาพนั้น กรรมที่เขาด่าภิกษุผู้หลงทางได้โอกาสส่งผลให้เขาไปเกิดในท้องนางทาสี เขาไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง จึงกล่าวด้วยสำคัญผิดว่า เพราะบุญที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นเศรษฐีเราจึงเกิดในท้องของนางทาสี
(อรรถกถาพรหมนารทชาดก มหานิบาต)
ในมหากัมมวิภังคสูตร (๑๔/๖๑๒) พระพุทธเจ้าทรงจำแนกการให้ผลของกรรม แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปอบายก็มี เพราะกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งต้องรับผลในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปด้วย
๒. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปสุคติก็มี เพราะกรรมดีที่เคยทำไว้ก่อนๆ ให้ผลส่วนกรรมชั่วในปัจจุบันยังไม่ให้ผล หรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นชอบ จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๓. บางคนทำดี ตายแล้วไปสวรรค์ก็มี เพราะกรรมดีที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งจะให้ผลในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปด้วย
๔. บางคนทำดี ตายแล้วไปอบายก็มี เพราะกรรมชั่วที่เคยทำไว้ก่อนๆ ให้ผล ส่วนกรรมดีในปัจจุบันยังไม่ให้ผล หรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นผิด จึงไปเกิดในอบาย
ผู้ที่ระลึกชาติได้หรือมีญาณอันจำกัด เมื่อไม่ได้ศึกษามหากัมมวิภังคสูตรนี้ จึงมีความเห็นผิดว่าทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว เช่น อลาตเสนาบดีระลึกชาติได้เพียงชาติเดียว มีข้อมูลไม่พอ จึงประเมินผลผิด หรือจับคู่ เหตุ-ผล ผิดฝาผิดตัว เข้าใจผิดว่า ฆ่าโคเป็นเหตุ ตำแหน่งเสนาบดีเป็นผล (ทำชั่วได้ดี) ถ้าอลาตเสนาบดีระลึกชาติได้หลายชาติ ก็จะมีข้อมูลมากพอที่จะสรุปหรือจับคู่ เหตุ-ผล ได้ถูกต้องว่า บูชาพระเจดีย์เป็นเหตุ ตำแหน่งเสนาบดีเป็นผล (ทำดีได้ดี)
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ขอยกตัวอย่างอื่นที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้ เช่น เมื่อกลางดึกของวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ บนถนนเพชรเกษม อ.ชะอำ นักแสดงชื่อดังได้หยุดรถเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้มคว่ำ ขณะที่กำลังนั่งดูแลคนเจ็บอยู่ที่ไหล่ทาง ดาราคนดังก็ถูกรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งชนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
(น.ส.พ.ไทยรัฐ ๒๕ มิ.ย. ๒๕๔๒)
จากข้อมูลเท่านี้ อาจมีผู้สรุปว่า "เพราะช่วยเหลือคนเจ็บจึงเคราะห์ร้าย ถ้าไม่ช่วยคงไม่เจ็บตัว" (ทำดีได้ชั่ว) การสรุปเช่นนี้ย่อมผิดพลาดและไม่สร้างสรรค์ ทำให้คนดีเสียกำลังใจ ที่ถูกต้องควรแยกแยะว่า เพราะเคยทำให้คนอื่นบาดเจ็บ วันนี้จึงได้รับบาดเจ็บ (ทำชั่วได้ชั่ว) ถ้าไม่ได้หยุดช่วยคน อาจไปประสบอุบัติเหตุข้างหน้าจนเสียชีวิตก็ได้ และการช่วยคนเจ็บในครั้งนี้ จะให้ผลดีในโอกาสต่อไป (ทำดีได้ดี) ต่อมามีข่าวว่า นักแสดงผู้นี้พ้นขีดอันตราย ทั้งยังได้รับการยกย่องและความช่วยเหลืออย่างมากมาย
นอกจากการโยง เหตุ-ผล ผิดคู่ เพราะรู้ไม่จริงหรือขาดข้อมูล ความเห็นผิดอาจมีสาเหตุมาจาก
๑. เป็นพวกค้ากำไรเกินควร ทำดีนิดเดียวแต่หวังได้ดีมากๆ เมื่อไม่สมหวัง ก็บ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี
๒. ทำยังไม่ถึงดี ก็เลิกเสียก่อน ถ้าหุงข้าว ก็คงได้ข้าวสุกๆ ดิบๆ
๓. ทำเลยความพอดี ถ้าหุงข้าว ก็คงได้ข้าวไหม้
๔. ทำไม่ถูกดี ไม่สร้างเหตุที่ตรงกับผลที่ต้องการ เช่น อยากรวยด้วยการซื้อหวยเลยจนตลอดชาติ
๕. ไม่เห็นเมื่อคนอื่นทำดี เห็นแต่เวลาเขาได้ดี ก็เลยบ่นว่า(เขา) ไม่ทำแต่ได้ดี
๖. เข้าใจว่าดีคือรวยเพียงอย่างเดียว เมื่อทำดีแล้วไม่รวย ได้ดีอย่างอื่นแล้วแต่ไม่รู้ จึงบ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี
๗. ใจร้อนเกินไป เพิ่งหุงข้าวไม่ถึง ๕ นาที ก็หวังให้ข้าวสุกเมื่อไม่ได้ดังใจ ก็บ่น
   

ที่มา : หนังสือกรรมลิขิต

5,221







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย