เมื่อเราเปิดรับสถานการณ์ต่างๆ โดยปราศจากอคติ และยอมรับทุกสิ่งตามความเป็นจริง เราย่อมพร้อมจะปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา
"เราอาจทำเฉยเมยด้วยการไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งที่รบกวนจิตใจ แต่การทำแบบนั้น ทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราลดลง การฝึกอุเบกขาจึงเป็นหนทางที่ดีกว่า คนมักสับสนกันระหว่างอุเบกขากับความเฉยเมย แต่ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันคนละโยชน์ ความเฉยเมยทำให้จิตใจแห้งเหี่ยวชืดชา ส่วนอุเบกขาทำให้จิตใจแผ่กว้างไม่มีประมาณ
อุเบกขาเป็นภาวะที่จิตมั่นคงไม่หวั่นไหว เป็นความตั้งมั่นอันเกิดจากปัญญารู้เห็นความเป็นไปตามหลักกรรม ยิ่งเห็นว่าประสบการณ์ในชีวิตของเรามีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพียงใด ความมั่นคงของจิตที่เป็นอุเบกขาย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
เราเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายล้วนมีกรรมเป็นของของตน เมื่อยอมรับความจริงข้อนี้ จิตย่อมตั้งมั่นในอุเบกขา เราพยายามช่วยผู้อื่นให้เป็นสุขและพ้นทุกข์ แต่ตระหนักดีว่าความพยายามของเราเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในบรรดาปัจจัยทั้งหลาย เราทำในสิ่งที่เราทำได้ แล้วปล่อยวางในผล เราย้อนกลับมาที่อุเบกขา ให้อุเบกขาเป็นฐานที่มั่น เป็นค่าตั้งต้นในการทำงานของจิต
การเจริญอุเบกขาไม่ไช่การบรรลุเป้าหมายในตัวเอง เมื่อเราเปิดรับสถานการณ์ต่างๆ โดยปราศจากอคติ และยอมรับทุกสิ่งตามความเป็นจริง เราย่อมพร้อมจะปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา การกระทำอันกอปรด้วยเมตตากรุณาจะมีพลานุภาพยิ่งขึ้น หากตั้งมั่นอยู่ในอุเบกขา"
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ